สัญญาณความรุนแรงระลอก 3 ที่เหมืองหินดงมะไฟ

1663 23 Sep 2020

 

 

          ย้อนกลับไปเมื่อ 25 ปีก่อน ในปี 2538 นายบุญรอด ด้วงโคตะ และนายสนั่น สุวรรณ แกนนำคัดค้านเหมืองหินบน ‘ภูผายา’ ซึ่งถือว่าเป็นนักต่อสู้คัดค้านเหมืองหินปูนรุ่นแรก ได้ถูกลอบยิงเสียชีวิต และต่อมาในปี 2542 กำนันทองม้วน คำแจ่ม และนายสม หอมพรมมา แกนนำคัดค้านเหมืองหินปูนบน ‘ภูผาฮวก’ ได้ถูกลอบยิงเสียชีวิตอีกครั้ง ซึ่งทั้ง 2 กรณี ยังไม่สามารถจับคนร้ายมาลงโทษได้เลยจนถึงปัจจุบัน

          ซึ่งภายใต้สถานการณ์การต่อสู้ของชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู ในการคัดค้านการทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน (เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง) เนื้อที่ 175 ไร่ และโรงโม่หิน เนื้อที่อีก 50 ไร่ ตามประทานบัตรที่ 27221/15393 ของบริษัท ธ.ศิลาสิทธิ จำกัด มาตลอดกว่า 26 ปี แล้วนั้น

          โดยปี 2563 นี้ เป็นช่วงรอยต่อที่สำคัญ เนื่องจากบริษัทดังกล่าวกำลังจะหมดอายุใบอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่หินปูน และใบอนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเก่ากลอยและป่านากลาง เพื่อทำเหมืองหินปูน โดยบริษัทดังกล่าวได้พยายามผลักดันในการต่ออายุใบอนุญาตทั้งสองใบอีกครั้ง เพื่อดำเนินการทำเหมืองหินปูนและโรงโม่หินต่อไปอีก 10 ปี

          แต่ถูกชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯคัดค้านการต่ออายุใบอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่หินปูน และใบอนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเก่ากลอยและป่านากลาง เพื่อทำเหมืองหินปูน อย่างหนัก จนนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการสอบสวนประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลดงมะไฟ เพื่อสอบสวนให้ออกจากราชการ เนื่องจากมีการนำวาระการพิจารณาต่ออายุใบอนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเก่ากลอยและป่านากลาง เพื่อทำเหมืองแร่ เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลดงมะไฟ และมีมติเห็นชอบให้บริษัทดังกล่าวเข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อประกอบกิจการเหมืองแร่บนบก ณ ภูผาฮวก-ผาจันได โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งยังไม่มีการทำประชาคมรับฟังความคิดเห็นของราษฎร 6 หมู่บ้านในเขตพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองหินก่อนบรรจุระเบียบวาระดังกล่าวเข้าที่ประชุมสภาฯ

          ทำให้บริษัท ธ.ศิลาสิทธิ จำกัด ไม่สามารถใช้เอกสารมติเห็นชอบของสภาฯดังกล่าวในการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเก่ากลอยและป่านากลาง เพื่อทำเหมืองหินปูน ต่อสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดหนองบัวลำภูได้ จนต้องหยุดชะงักกระบวนการในการต่ออายุใบอนุญาตทั้งสอง และยังไม่ได้รับการต่ออายุใบอนุญาตใด ๆ ทั้งสิ้น

          ไม่เพียงเท่านั้น ในวันที่ 13 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมาชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้เข้าเจรจาและยื่น 3 ข้อเรียกร้องต่อส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

          (1) ปิดเหมืองแร่หินปูนและโรงโม่หิน

          (2) ฟื้นฟูภูผาป่าไม้

          (3) พัฒนาดงมะไฟเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมและแหล่งอารยธรรมโบราณคดี

          แต่ทว่าการเจรจากลับไม่เป็นผลแต่อย่างใด จนทำให้ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯต้องปักหลักชุมนุมตามข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ที่ถนนทางเข้าเหมืองหินปูนและโรงโม่หิน เพื่อดำเนินการปิดและฟื้นฟูเหมืองหินปูนและโรงโม่หินด้วยสองมือสองเท้าของตัวเอง

          รวมทั้ง วันที่ 3 กันยายน 2563 ที่ผ่านมาเป็นวันที่ใบอนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเก่ากลอยและป่านากลาง เพื่อทำเหมืองหินปูน ได้สิ้นสุดอายุใบอนุญาตลงแล้ว โดยในวันที่ 4 กันยายน 2563 ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้เข้าทวงคืนภูผาป่าไม้ บน ‘ภูผาฮวก’ เนื้อที่ 175 ไร่ เพื่อเปลี่ยนเขตเหมืองหินให้เป็นเขตป่าชุมชน อีกทั้งในวันที่ 24 กันยายน 2563 นี้ จะเป็นวันที่ใบอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่หินปูนจะสิ้นสุดอายุใบอนุญาตลง ซึ่งทำให้สิทธิในการทำเหมืองแร่ของบริษัทดังกล่าวสิ้นสุดลงตามไปด้วยและไม่มีสิทธิในการทำเหมืองแร่ในพื้นที่อีกต่อไป โดยชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯจะดำเนินการทวงคืนภูผาป่าไม้ในพื้นที่โรงโม่หินอีก 50 ไร่ คืนมา และขอขึ้นทะเบียนเป็นเขตป่าชุมชนของราษฎร 6 หมู่บ้าน และดำเนินการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป

          จากเหตุการณ์ที่ได้กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น ทำให้ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯต้องเผชิญกับสถานการณ์ความเสี่ยงที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงระลอก 3 เหมือนเมื่อครั้งปี 2538 และปี 2542 ซึ่งสถานการณ์ยังคงคุกรุ่นอยู่ในพื้นที่อยู่ตลอดเวลา ด้วยเหตุการณ์ที่ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯถูกข่มขู่คุกคามจากการออกมาชุมนุมปิดเหมืองหินปูนและโรงโม่หิน จะเห็นได้ว่ามีลักษณะ กระบวนการ วิธีการ และรูปแบบใกล้เคียงกันกับสองกรณีแรกอย่างชัดเจน โดยตัวละครเบื้องหลังความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นกลุ่มคนเดียวกันกับทั้งสองกรณีอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นฝีมือของแกนนำหนุนเหมืองหินปูนและโรงโม่หินที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ 6 หมู่บ้าน

          จากการสอบถามชาวบ้านในพื้นที่ แกนนำหลักที่หนุนเหมืองที่คอยชักใยอยู่เบื้องหลังในการผลักดันให้เกิดการทำเหมืองแร่หินปูนในพื้นที่ตำบลดงมะไฟ และรวมตัวกันเข้าต่อรองผลประโยชน์กับเสี่ยเมืองอุดรธานีเจ้าของเหมืองหินปูนให้เข้ามาผลาญทรัพยากรธรรมชาติทำลายภูผาป่าไม้ของชุมชน มีด้วยกัน 6 คน ดังนี้

          1. นายประคอง (นามสมมุติ) เป็นอดีตกำนันตำบลดงมะไฟ อาศัยอยู่บ้านวังหินซา หมู่ 9 เคยเป็นแกนนำหนุนเหมืองหินปูนรุ่นแรก ซึ่งเป็นคนชักชวนเพื่อนฝูงเข้าไปหาเสี่ยเมืองอุดรธานี เพื่อต่อรองผลประโยชน์เปิดทางให้เกิดการทำเหมืองหินปูน ปัจจุบันย้ายไปประกอบอาชีพค้าขายอยู่จังหวัดระยอง

          2. นายรุน (นามสมมุติ) เป็นเพื่อนสนิทกับนายประคอง เคยเป็นทหารผ่าศึกมาด้วยกัน และมีลูกน้อง คือ นายแก่น (นามสมมุติ) ที่คอยปล่อยข่าวต่างๆ นานา และสร้างสถานการณ์ก่อกวนชาวบ้านฝ่ายค้านเหมือง ปัจจุบันอาศัยอยู่บ้านโชคชัย ม.12 และประกอบอาชีพเกษตรกร

          3. นายคุ้ม (นามสมมุติ) เป็นเพื่อนสนิทกับนายประคองด้วยอีกคน และยังเป็นคู่เขยด้วยกันกับนายสุนา (นามสมมุติ) ปัจจุบันอาศัยอยู่บ้านโชคชัย ม.12 และประกอบอาชีพเกษตรกร

          4. นายสุนา (นามสมมุติ) เป็นรองประธานสภาองค์กรบริหารส่วนตำบลดงมะไฟคนปัจจุบัน เคยต้องคดีอาญาปลอมแปลงเอกสารเกี่ยวกับการทำเหมืองหินปูน และเป็นคนผ่านเงินไปให้สมาชิก อบต. ฝ่ายโรงโม่ และคนอื่น ๆ ในการผลักดันการทำเหมืองหินปูนและโรงโม่หิน นอกจากนี้ยังเป็นน้องเขยของนายคุ้ม ปัจจุบันอาศัยอยู่บ้านโชคชัย ม.8

          5. นายเงาะ (นามสมมุติ) เป็นคนงานเหมืองหินปูน เคยเช่าที่ดินเสี่ยเมืองอุดรธานีทำนามาก่อนตั้งแต่ยังไม่ได้ตั้งเหมืองหินและโรงโม่ ปัจจุบันอาศัยอยู่บ้านนาเจริญ ม.11

          6. นายอำคา (นามสมมุติ) เป็นญาติห่าง ๆ กับนายรุน เคยเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านโชคชัย ม.12 แต่โดนไล่ออกจากตำแหน่ง และมีลูกน้องคนสนิท คือ นายคำสิง (นามสมมุติ) อาศัยอยู่บ้านโชคชัย หมู่ 8

          ซึ่งบุคคลเหล่านี้เป็นตัวบงการสำคัญในการลอบยิงแกนนำชาวบ้านคัดค้านเหมืองหินเมื่อปี 2538 และปี 2542 ทั้งยังคอยปฏิบัติการข่มขู่คุกคามชาวบ้านคัดค้านเหมืองแร่หินปูนและโรงโม่หินอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งยังส่งลูกสมุนในสังกัดมายุยง ปลุกปั่น และสร้างสถานการณ์ให้ชาวบ้านเกิดความหวาดกลัวและหวั่นเกรงต่อภัยอันตรายในการออกมาคัดค้านเหมืองหินปูนและโรงโม่หิน

          โดยนายรุนร่วมกับนายอำคา ซึ่งรับเงินมาจากนายสุนาที่เป็นคนผ่านเงินจากเสี่ยเมืองอุดรธานี ได้รวมหัวกันจ้างวานชาวบ้านบางส่วนไม่ให้เข้าร่วมเคลื่อนไหวคัดค้านการทำเหมืองหินปูนและโรงโม่หิน โดยได้มีชาวบ้านในพื้นที่เล่าว่า เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมานั้น นายรุนและนายอำคาได้ขับรถจักรยานยนต์เลาะรอบบ้านและแจกเงินให้ชาวบ้านคนละ 200 บาท และบอกชาวบ้านว่า ไม่ให้ไปศาลากลางจังหวัดหนองบัวลำภูร่วมกับชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ และให้อยู่เฉย ๆ ห้ามออกไปคัดค้านเหมืองหินและโรงโม่ เพราะเหมืองสามารถต่ออายุใบอนุญาตได้แล้ว

          และนายรุนกับนายอำคายังร่วมหัวกับลูกน้องอีก 2 คน คือ นายแก่นและนายคำสิงพยายามเข้าไปข่มขู่ชาวบ้านให้เกิดหวาดกลัวในการออกมาคัดค้านเหมืองหินปูนและโรงโม่หิน โดยเข้าไปหาชาวบ้านถึงบ้านพักอาศัยพร้อมทั้งปล่อยข่าวลือว่า จะมีการสลายการชุมนุมชาวบ้านที่มาปิดถนนทางเข้าเหมือง ใครที่มาชุมนุมจะถูกจับดำเนินคดี ถูกยิง และถูกวางระเบิดสถานที่ชุมนุม โดยให้หยุดการเคลื่อนไหวคัดค้าน ไม่ให้ออกมาชุมนุม และถ้าหากไม่หยุดจะมีการฆ่าแกนนำคัดค้านเหมืองเป็นศพที่ 5

          นอกจากนี้ นายสุนา นายอำคา และนายรุน ได้มีการส่งลูกน้องอย่างนายแก่นและนายคำสิง รวมทั้งจ้างวานพวกขี้ยาขี้เมาในหมู่บ้านมาสืบข่าว สร้างสถานการณ์ ก่อกวน ปั่นป่วน และบุกประชิดตัวชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ที่ออกมาชุมนุมอยู่ถนนทางเข้าเหมือง

          โดยเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2563 เวลาประมาณ 06.18 น. ได้มีชายวัยกลางคนไม่ทราบชื่อ ขับรถจักรยานยนต์ Honda click 125i สีน้ำเงิน ป้ายทะเบียน คพย 951 จ.อุดรธานี มาจอดตรงบริเวณหน้าสถานที่ชุมนุม และเข้ามาพูดจาข่มขู่คุกคามกับชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ว่า “ใครให้มาชุมนุม ใครเป็นคนหนุนหลังให้มาชุมนุมอยู่ตรงนี้ เดี๋ยวจะมาพังสถานที่ชุมนุม รื้อเต้นท์ และหากไม่หยุดชุมนุมก็จะมีคนตายอีก” ต่อมาเวลาประมาณ 08.33 น. ชายคนดังกล่าวได้ขับรถจักรยานยนต์คันเดิมมาวนเวียนรอบบริเวณถนนหน้าสถานที่ชุมนุมอีกถึง 3 รอบ โดยต่อมาทราบว่า ชายคนดังกล่าวเป็นคนบ้านดงมะไฟ ม.1 เป็นคนงานร้านวัสดุก่อสร้างในพื้นที่ที่มาซื้อหินจากเหมืองไปขายต่อ

          เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563 เวลาประมาณ 19.00 น. คนงานเหมืองหินปูนได้มาก่อกวนชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯที่บริเวณหน้าสถานที่ชุมนุม ทั้งยังพูดจาก่อกวนถามว่า “ใครเป็นแกนนำ ใครให้มาชุมนุม” โดยทางชาวบ้านกล่าวว่า “ไม่มี” แต่คนงานคนดังกล่าวก็ยังไม่ยอมกลับบ้านและนั่งอยู่บริเวณด้านหน้าที่ชุมนุม ซึ่งพอสมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ฯที่มีบทบาทสำคัญคนหนึ่งกำลังจะเดินทางกลับบ้านไปทำธุระส่วนตัวและได้ขับรถยนต์ออกไป คนงานคนดังกล่าวจึงขับรถจักรยานยนต์ตามไปด้วย โดยได้ขับรถจักรยานยนต์เบียด ปาดหน้า พร้อมทั้งบีบแตรใส่รถยนต์ของสมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ฯคนดังกล่าว

          เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2563 เวลาประมาณ 22.10 น. ได้มีรถจักรยานยนต์ จำนวน 5 คัน ได้มาขับรถวนเวียนหน้าสถานที่ชุมนุมถึง 2 ครั้ง โดยได้มีการเร่งเครื่องรถเสียงดัง เพื่อก่อกวนชาวบ้านที่กำลังนอนหลับอยู่

          เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2563 เวลาประมาณ 10.00 น. สมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ฯคนหนึ่งที่มีบทบาทสูง ได้ถูกบุกประชิดตัวถึงหน้าบ้านพักอาศัย โดยนายเงาะเดินเข้ามายืนประกบทางด้านหลังของสมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ฯคนดังกล่าวขณะที่กำลังทำความสะอาดรถยนต์อยู่ ซึ่งไม่มีการทักทายใด ๆ ก่อนเข้ามาหาและยังมีท่าทีคุกคามผิดวิสัย ซึ่งสร้างความตกใจแก่สมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ฯคนดังกล่าวเป็นอย่างมาก โดยมาทราบภายหลังว่านายเงาะเป็นคนงานเหมืองหินปูน

          และในวันเดียวกัน เวลาประมาณ 16.00 น. นายแสวง (นามสมมุติ) คนงานเหมืองหิน ได้มาแฝงตัวในสถานที่ชุมนุม เพื่อสืบข่าว ตรวจสอบสถานที่ชุมนุม และนับจำนวนคนมาร่วมชุมนุม โดยมีการมองหน้าชาวบ้านทุกคนและพูดคุยกับชาวบ้านบางส่วนก่อนเดินทางกลับไป

          และเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2563 ญาติของชาวบ้านกลุ่มคัดค้านเหมืองทองคำ จ.เลย ได้รับโทรศัพท์ติดต่อมาจากนายอ้วน (นามสมมุติ) โดยโทรมาพูดคุยว่า วันที่ 25 ก.ย. 63 นี้ อย่าให้พี่น้องนาหนองบงมาร่วมชุมนุมกับกลุ่มอนุรักษ์ฯ เพราะมีการจ้างมือปืนสั่งเก็บแกนนำที่เป็น NGO แล้ว

          การก่อตัวของเหตุการณ์ที่ไม่ชอบมาพากล โดยมีกลิ่นอายที่นำพาไปสู่ความรุนแรงเช่นนี้ อาจเป็นสถานการณ์ที่กำลังพาให้สถานการณ์ปัจจุบันย้อนกลับไปสู่ปี 2538 และปี 2542 ก็เป็นได้

 

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม