แอมเนสตี้แถลงหลังทนายอานนท์และไมค์ถูกจับกุมและตั้ง 8 ข้อกล่าวหา

1846 14 Aug 2020

 

จากกรณีที่มีการจับกุมทนายอานนท์ นำภา และภานุพงศ์ หรือไมค์ จาดนอก นักกิจกรรมที่เป็นแกนนำคนสำคัญสองคนในการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมาในวันนี้ และมีรายงานข่าวว่ามีการออกหมายจับแกนนำผู้ชุมนุมคนอื่นเพิ่มเติม ก่อนจะมีการจัดชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่จะจัดขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์นี้

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยเผยว่า การออกหมายจับและตั้งข้อกล่าวหาทั้งสองคนในวันนี้ นับเป็นปฏิบัติการที่ไม่ได้สัดส่วนอย่างสิ้นเชิงอีกครั้งหนึ่งของตำรวจไทยเพื่อปราบปรามการใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ โดยมีเป้าหมายอย่างชัดเจนว่าเพื่อข่มขู่ผู้ที่จะเข้าร่วมการชุมนุมในช่วงสุดสัปดาห์นี้ 

“หลังที่ต้องเผชิญหน้ากับการถูกคุกคามมาหลายเดือน ในตอนนี้ทนายอานนท์และไมค์ ภานุพงศ์ ยังจะต้องถูกดำเนินคดีในข้อหาอาญาร้ายแรงถึง 8 ข้อกล่าวหา เพียงเพราะใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ”   

“นอกจากจะต้องถอนข้อกล่าวหาที่ปราศจากมูลความจริงเช่นนี้แล้ว แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังเรียกร้องทางการไทยให้การประกันว่าจะมีการคุ้มครอง รักษาความมั่นคงปลอดภัย ไม่ให้มีการตอบโต้เอาคืนกับบุคคลใดก็ตาม ซึ่งมีชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการชุมนุมอย่างต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา”

ข้อมูลพื้นฐาน

ในวันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม ตำรวจได้จับกุมทนายอานนท์ นำภา ด้านหน้าที่พักของเขาในกรุงเทพฯ และจับกุมภานุพงศ์ จาดนอก หรือ “ไมค์” ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ทั้งสองคนอยู่ระหว่างการส่งตัวไปฝากขังที่ศาลอาญา รัชดาฯ ส่วนแกนนำนักศึกษาอีกคนหนึ่งคือ พริษฐ์ ชีวารักษ์ ซึ่งเป็นสมาชิกของสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย ถูกออกหมายจับเช่นกัน

อานนท์และไมค์ ภานุพงศ์อาจได้รับโทษจำคุกเจ็ดปี ตามข้อหาต่าง ๆ รวมทั้งยุยงปลุกปั่นเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน มั่วสุมกันใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, 215, 385 ตามลำดับ ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ความผิดตามพ.ร.บ. โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6) ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะเป็นความผิดตามมาตรา 114 พ.ร.บ.จราจรทางบก ความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 19 และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง และร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดตามมาตรา 4 ของพ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ โดยใช้เครื่องขยายเสียง รายงานข่าวระบุว่า ยังจะมีการทยอยออกหมายจับผู้ประท้วงคนอื่น ๆ ในข้อหาเดียวกันด้วย

นับแต่มีการประกาศใช้พระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 เจ้าหน้าที่ทำการควบคุมตัวและแจ้งข้อหาอาญาอย่างต่อเนื่องต่อบุคคลที่เข้าร่วมการชุมนุมและเข้าร่วมกิจกรรมอย่างสงบ ผู้ชุมนุมยังคงต้องเผชิญการข่มขู่คุกคามจากตำรวจในหลายกรณี เพียงเพราะใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ โดยเป็นการชุมนุมที่มีแกนนำเป็นนักเรียนและนักศึกษา ซึ่งเรียกร้องเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และหยุดคุกคามประชาชน

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องรัฐบาลไทยให้การประกันว่า การบังคับใช้กฎหมายต้องมีจุดประสงค์เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้กำลังให้มากสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และให้ยึดมั่นในหลักการไม่ใช้ความรุนแรง

 

ภาพประกอบ เครดิต: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน  

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม