โชคชะตาสุราแช่ 5  ตอน อัญมณีจาโชคชะตาสุราแช่ 5  ตอน อัญมณีจากแผ่นดินไร้น้ำกแผ่นดินไร้น้ำ

1515 22 Jul 2020

 

ชีวิตวัยเยาว์ของผม ไม่สุขสบายนัก เป็นลูกคนเดียวที่อยู่เย้าเฝ้าบ้านทำงานครัว ช่วยงานขาย ทอดขนม ย่างไก่ ขายกวยเตี๋ยว บ้างไปไร่ บ้างไถนา กลางคืนขายของตามงานวัด งานสวนสนุก กลางวันหาบน้ำ ขนน้ำ ล้างชาม ขัดหม้อ ผมเกิดในยุคที่วิถีชาวบ้านลุกไปหาบน้ำข้ามทุ่ง แต่เช้ามืด เกิดในยุคที่สงครามคุกรุ่น วิ่งวุ่นหลบกระสุนปืนใหญ่ คนสมัยนั้นกว่าจะได้น้ำมาอาบมาดื่มเต็มโอ่ง ลำเค็ญกว่าสมัยนี้มาก

 .

ยุคสมัยที่ความลำเค็ญมีทุกบ้าน ชีวิตชาวป่า ปลูกมันปลูกปอ แต่ป่าเข้าไม่ได้ ไร่เข้าไม่ได้ เพราะมีกับระเบิด โจรเขมรแตกทัพ หนีทัพ และไม่หนีทัพเดิน เต็มไปหมด แถมพืชไร่ไม่มีราคาต่อเนื่อง ช่วงนั้นเศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนัก ผู้คนอดอยาก แทบทุกหลังคาเรือน หนีไปรับจ้าง ทำก่อสร้าง ทำทุกอย่างที่กรุงเทพฯ

 .

ผมเป็นเด็กผู้ชาย คนเดียวที่ลุกไปหาบน้ำ ส่วนมากบ้านอื่นจะเป็นแม่บ้านหรือเป็นลูกสาว ทำหน้าที่นี้ ผมมีพี่สาวแต่ชีวิตนางส่วนมาก ต้องไปเรียนและอยู่ในเมือง ออกจากเรียนนางก็ไปอยู่กรุงเทพฯ นางเลยไม่ค่อยได้ทำหน้าที่ในครอบครัวมากนัก ต่างจากผมเกิดมาเป็นงัวงานในครอบครัว ที่ต้องทำทุกอย่าง

 

 

.

ความแร้นแค้นลำเค็ญของวิถีทำให้เราเข้าใจถ่องแท้ 2 เรื่องคือ วัฒนธรรมชาวบ้าน และเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง สมัยนั้นเรามักมีคำบอกเล่าถึงคนภายนอกว่า “มาสุรินทร์ กินน้ำตำ ไปบุรีรัมย์ ต้องตำน้ำกิน” หมายถึง ชาวบ้านต้องไปขุดเอาดินเหนียวมาตำ คั้นเอาน้ำมาดื่ม หรือมาให้วัวกิน ทำให้ ศิลปินเพื่อชีวิตคนหนึ่ง เอามาเขียนเป็นเพลง UN เอารูปถ่ายเด็ก (จากหมู่บ้านแถวศรีสะเกษ) เป็นรูปถ่ายเด็กกินดิน เพราะหิวโหย ไปเผยแพร่ ความจริงแล้ว ผมก็กินนะ ดินเหนียวหอมๆ หรือดินปลวก ที่ขึ้นตามแผ่นไม้ เราแกะออกมาเป็นแผ่นๆ แล้วสมมติว่าเป็นขนมปัง แบบในหนังแล้วกัดกิน ดินปลวกเวลาโดนน้ำลายก็จะหอมๆ และมีอีกคำที่เราบอกคนภายนอก หรือคนภายนอกมักถาม ว่าจริงหรือเปล่าที่ว่า “ไปสุรินทร์ต้องกินสุรา ถ้าไม่กินสุราก็ไม่ใช่หมา (มา) สุรินทร์” และเราก็ตอบออกไปอย่างภูมิใจว่า “ใช่..”

 .

ความภูมิใจที่เราถูกจดจำอย่างไร เป็นเรื่องตัวตน ตัวตนของคนป่าคนดงอย่างเรา การมีชีวิตที่มีตัวตนคือศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ คือวัฒนธรรมการต้อนรับขับสู้ สุดกำลังฐานะ และคือการมอบมิตรไมตรี ความรื่นรมย์ และบันเทิงเริงใจ นี่เป็นวัฒนธรรมที่ล้ำค่า ตรงข้ามกับนิเวศวิถีคนบ้านป่ากันดาร ที่ร้อนและแล้งในฤดูหนึ่งแล้วก็หนาวเหน็บสั่นสะเทิ้มในฤดูต่อมา วัฒนธรรมต้อนรับผู้มาเยือน อย่างเป็นมิตรเช่นนี้ คือ สมบัติทางวัฒนธรรมที่ล้ำค่า

 .

สุรินทร์ เป็นสังคมชาวนา นอกจากนั้นก็เป็นสังคมชาวไร่ สิ่งที่เหมือนกันคือความกรากกรำ ลำบาก อดอยาก ผจญเผชิญกับความเลวร้ายน่าสิ้นหวัง แต่เราไม่เคยเป็นเช่นนั้น กลับมีวิถีชีวิตที่เปี่ยมพลังไม่ถือโทษโชคชะตาธรรมชาติ มีระบบการดำรงอยู่ที่พึ่งพิงพึ่งพาธรรมชาติ มีองค์ความรู้ในการจัดการเพื่อให้อยู่รอดตามระบบนิเวศ หรือที่เรียกว่า นิเวศวัฒนธรรม

 .

 

ผมภาคภูมิใจมาตลอดกับสิ่งเหล่านี้ “ใช่... ครับ ไปสุรินทร์ต้องกินสุรา ถ้าไม่กินสุรา ไม่ใช่เทวดา สุรินทร์” คนเขมรเป็นคนจริงใจ ง่ายๆ มีอารมณ์ขันสูง ไม่ยึดติดในทรัพย์ เคร่งศาสนา ความเชื่อ และมีน้ำใจ

 .

การพัฒนา การสร้างวาทกรรมใหม่ๆของฝ่ายปกครอง ของกลุ่มนักวิชาการในเมือง ของคนรุ่นใหม่ ขององค์กรต่างๆ ที่นิยมสำเร็จความใคร่ทางศีลธรรม อย่าง สสส. และพวกประชาคมจังหวัด  ทำลายระบบโคงสร้างทางวัฒนธรรมนี้จนหมดสิ้น เราไม่มีสิ่งที่เรียกว่าตัวตน ไม่มีวิถีวัฒนธรรมของชาวบ้าน ที่จะบอกโลกออกไป ที่จะให้โลกภายนอกเล่าขานถึงเรา

 .

ในนามของการพัฒนาเชิงเดี่ยวจากฝ่ายปกครองของภาครัฐ เข่นฆ่าศักดิ์ศรีทางวัฒนธรรมเรา แล้วพยายามยัดเยียดค่านิยมใหม่ๆ ทั้ง สัญลักษณ์ของจังหวัด อาทิ ช้าง ผ้าไหม ความดันทุรังยัดเยียดช้าง ด้วยงบประมาณ ด้วยทรัพยากรของรัฐ ทำให้การพัฒนาสุรินทร์  ไม่มีตัวคน ไม่มีความเข้าใจทางวัฒนธรรมพื้นบ้าน ที่เป็นวิถีจริงๆ อยู่เลย การทุ่มเทงบประมาณ เพื่อทำลายวัฒนธรรมชาวบ้าน และเพื่อขุดเอารากเหง้าเก่าๆ มาเป็นประเพณีมาแสดงใหม่ ปีหนึ่งๆ หมดไม่รู้เท่าไหร่ ความพยายามสงเสริมผ้าไหม ส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยการพาชาวบ้านแสดงออกอย่างเป็นอื่นตลอดหลายปีที่ผ่านมา ไม่เคยประสบผลสำเร็จ แม้กระทั่งงานช้างก็เป็นงานล้มเหลว ไร้ทิศทาง กรณีผ้าไหมซึ่งเป็นผ้าสำหรับประดับประดาแสดงฐานะ  เป็นอาภรณ์ของชนชั้นเจ้า เป็นเครื่องประดับของคนที่ไม่ได้อาบเหงื่อต่างน้ำ สวมใส่ เพราะเป็นผ้าที่ใส่ไม่สบาย ไม่ซับเหงื่อ ไม่ระบายอากาศ ดังนั้น ชาวบ้านจะใส่เฉพาะงานพิธี หรือ ไปวัด เท่านั้น

.

 

เกษตรกร ชาวบ้าน เป็นชนชั้นกรากกรำ ไม่นิยมใส่ผ้าไหมทำงาน การบังคับ การทุ่มเท ส่งเสริมของภาครัฐจึงเหมือนกับการละลายงบประมาณ ไปเปล่าๆ....

 .

การรักษาวัฒนธรรม การสร้างวัฒนธรรม การตีความหรือถอดรหัสวัฒนธรรม ควรจะเปิดกว้าง อิสระ และให้ประชาชน กำหนดเองบ้าง เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต ความจริง ความฝัน ของทุกคน ของทุกฝ่าย อย่าให้คน 2-3 หมู่บ้านที่เลี้ยงช้าง เป็นพื้นที่ทองคำ ที่รัฐ คอยปรนเปรอ งบประมาณ แล้วให้คนอีกนับร้อยนับพันหมู่บ้าน ดำรงอยู่อย่างไร้ตัวตน

.

 

ในแดดสายๆวันหนึ่ง ขณะที่ผมเดินลัดเลาะไปตามป่ากับเพื่อนที่สนิทและรู้ใจกัน อย่างตาเพลย พี่แงะ เพื่อเสาะหา “ตะเปียงจู” เพื่อสำรวจปริมาณ จำนวนพืชท้องถิ่นที่กำลังจะสูญพันธุ์ นี้ ผมคิดและไตร่ตรองเรื่องนี้ กลับไปกลับมา  จนกระจ่างแจ้ง ว่าเราปรารถนาสิ่งใด กับการดำรงอยู่ อิสรภาพและความเข้มแข็งยั่งยืนในการดำรงชีพ ปลูก แปรรูป ขาย เพื่อเลี้ยงปากท้องตนเอง

 .

และในทุกครั้ง ที่ผม Test รสชาติ หมายถึง การสอบตรวจ ประเมิน คุณภาพน้ำไวน์ ดมกลิ่น ชิมรส และส่องแสงดูสี ว่าแวววาว ระเรื่อ ดั่งอัญมณี เป็นที่พอใจหรือเปล่า ทำให้คนรู้สึก ต้องมนต์เสน่ห์เมรัย จากผืนป่า ที่เรียกว่า ไวน์  หรือเปล่า ทุกครั้งที่พินิจน้ำไวน์ ผมมักบ่นพึมพำกับตัวเองเสมอว่า ทำไมเราถูกทอดทิ้งแบบนี้ !!!

 .

ถึงวันนี้ ใครจะอาย ที่ถูกมอง ถูกเรียก ว่า “คนสุรินทร์ต้องกินสุรา หรือ มาสุรินทร์ต้องกินสุรา” ก็เถอะ ผมว่าผมไม่อาย และผมมอง ผมถอดรหัสวัฒนธรรมคนเขมรสุรินทร์ คนละความหมาย และผมก็ไม่ตอแหล ไม่ชมชอบฐานคิดคน ที่นึกถึงภาพลักษณ์เชิงศีลธรรม แบบพวกมนุษย์มีเงินเดือน

 

เราเกษตรกร เรากรากกรำ เป็นชีวิตชั่วนิจนิรันทร์ของเรา เราอยู่เราทำเราปรนเปรอชีวิตเราด้วยความสุข ความบันเทิงเริงรำและการต้อนรับดื่มกินให้รื่นรมย์ และวันนี้ ผมมี “อัญมณีสีแดงแวววาวที่หมักบ่มจากแผ่นดินไร้น้ำ” ที่ชื่อว่า ไวน์ และโลกจะต้องกล่าวขานถึงเรา Wine of Surin
 

โดย เกษตรกรขบถ ไร่ทวนลม

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม