โชคชะตาสุราแช่ 2 ตอน รสชาติแห่งความรันทด ตะเปียงจู กะท้อน กะเจี๊ยบ

1858 08 Jul 2020

 

 

ในวันที่เข้าไปปรึกษา เรื่องขออนุญาตทำไวน์ ท่านหัวหน้าฐิตยุทธ เดื่อมขันมณี  อดีตหัวหน้าสรรพสามิต สาขาปราสาท ท่านให้คำแนะนำอย่างเมตตาและเข้าใจไว้ว่า “กฎหมายไม่ได้ห้ามเกษตรกรอย่างเราหรอก ใครก็ขอได้ ว่าแต่ คิดดีแล้วหรือ ? ไม่แตะต้ององุ่นใช่ไหม ? ถ้าคิดดีแล้ว หัวหน้าก็จะบอกขั้นตอนให้ เราเป็นแค่เกษตรกร ทำง่ายๆก็พอ โรงเรือนก็เอาแค่มิดชิด ไม่ต้องลงทุนเยอะ เอาไว้ขายไวน์ได้ค่อยขยับขยายปรับปรุง” นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ผมได้รับ ซึ่งผมคิดวิเคราะห์หนทางเดินไว้แล้ว การแปรรูปผลผลิตการเกษตรที่สามารถทำได้คราวละมากๆ wine คือทางออกทางหนึ่ง ส่วนหนทางการตลาด ทำอย่างไรจะให้คนหันมาสนใจดื่มไวน์จากผลไม้พื้นเมือง (ซึ่งใครๆก็มองว่ายาก ) ผมไม่กังวล แม้ว่า จริงๆแล้วผมรู้มาตลอดว่า นักดื่มไวน์นั้น ค่อนข้างจะยึดติดที่แบรนด์ มากกว่าจะรสชาติ จริงๆ ยิ่งเป็นผลไม้นอกเหนือจากองุ่น โอกาสที่นักดื่มจะลิ้มลอง ให้โอกาสนั้น ไม่มีทางเลย

ความต้องการผลักดันชื่อพืชพื้นถิ่นของผมยังเป็นเรื่องแน่วแน่มาก ผมครุ่นคิดหนทางนี้มาหลายปีและลงมือปลูกไปแล้ว ทั้งไร่อิ่มเอม ไร่ทวนลม และสวนซีโมน เมื่อแปลงเกษตรเดินหน้า หนทางการแปรรูปทำแพ็คเกจออกสู่ตลาดก็ต้องเริ่มลงมือตาม ถามว่า บ้าไหม๊ ?  ที่ตัดสินใจ เอาโฉนด ที่ดินเกือบทุกแปลงไปเข้าธนาคาร กู้เงินมาลงทุน  ตอบได้คำเดียว บ้ามาก
!!

แต่มันไม่มีหนทางอื่นๆ ที่น่าสนใจและมีโอกาส เท่าหนทางนี้ มองกระแสโลก มองวิถีการดำรงอยู่ กระแสความนิยม กิน ดื่ม ยอมรับ แม้จะมีโอกาสเป็นไปได้แค่ 1% ก็ยังเป็นโอกาส เมื่อกฎหมายเอื้ออำนวยให้เรา และเมื่อเรามีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะสร้างหนทางการทำเกษตรที่หนีออกไปจากวงจรพืชเชิงเดี่ยว นี่คือความท้าทาย และ ทั้งชีวิตโหยหาความท้าทาย เพราะเรื่องไม่ใช่แค่เรื่องสิทธิโอกาสของเกษตรกร ของคนเล็กคนน้อยที่เป็นประชาชนคนไทยเท่านั้น แต่เรื่องนี้ คือเรื่องการถางทางสิทธิในการเข้าถึง จัดการ ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในประเทศนี้ และปูพื้นฐานการคิดอะไรใหม่ๆ การสร้างองค์กรทางธุรกิจเล็กๆ ในพื้นที่ ในชุมชน ให้ลูกหลานฝันได้ หรือมีแรงบันดาลใจ พัฒนา คิด สร้าง ต่อจากผมได้ด้วย

ผมเตร็ดเตร่ ตระเวนเหมือนคนบ้า ทั้งหาความรู้ เกี่ยวพันธุ์พืชพื้นเมืองจากคนรอบตัวจากผู้รู้ในท้องถิ่น ผลไม้อะไร รสชาติเป็นยังไง สี กลิ่น คุณลักษณะของโครงสร้างเนื้อผลไม้ รวมถึง  โอกาสที่ขยับขยายนำมาปลูก นำมาปรับปรุงบำรุงพันธุ์ หรือ เสาะหามาทำในเชิงปริมาณมากๆได้  ผลไม้อะไร มีความอ่อนไหวน้อย หมายถึง ออกผลได้ทุกปี ไม่ว่าจะแล้ง หรือฝนชุกชุม

 

เป็นงานที่ยาก ที่ท้าทาย ทุกขั้นตอน ทุกมิติ แต่ผมก็สนุก คนที่ให้ข้อมูลก็สนุก หลายชนิดที่คุยไปคุยมาก็สรุปได้ว่า สูญพันธุ์หรือหายากแล้ว หลายชนิดเปลี่ยนสถานะเป็นวัชพืชที่ชาวบ้านพ่นยาฆ่าหญ้ากำจัดทุกปี แต่ De Simone จะทำ ทำให้คนรู้ว่า พืชพรรณนานาในบ้านเมืองเรานั้น มีคุณค่ามีสรรพคุณสารพัด หากได้รับความสนใจค้นคว้าวิจัย บ้าง

ผมเริ่มวางแผนจัดลำดับผลไม้ที่จะนำมาทดลอง โดยเน้นตามฤดูกาล จากอันไหน ไปอันไหน หาเงินมาก็หมดไปกับการทดลอง ในแต่ละชนิดก็ลองหลายๆแบบ ทั้งต้ม หมักสด ตากแห้ง  ทุบ หั่น ขยำ ฯลฯ จากนั้นก็รอคำตอบ รอพิสูจน์ทดสอบผลลัพธ์ ว่ากลิ่น รสชาติ สี เป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งกว่าจะรู้อย่างน้อยๆ ก็
6 เดือน!!

น้ำสีอำพันในแก้วไวน์ทรงสูง สวยใส กลิ่นกำจายเบาบาง และเมื่อแกว่งเบาๆ แล้วยกขึ้นดมกลับหอมฟะฟุ้ง ผมหลับตาสูดกลิ่นนั้น เข้าไปลึกๆ ปล่อยให้อารมณ์กระโจนออกไป เสาะหา ปะทะ คุ้นเคย ก่อนจะเปลี่ยนแปรเป็นความรู้สึก ว่าหลงรัก มีเสน่ห์ มีเอกลักษณ์ หรือไม่ อย่างไร ทั้งหมดถามใจเราล้วนๆ หากสรุปแล้ว รู้สึกจากก้นบึ้งหัวใจเลย ว่า มีเสน่ห์ ผมจะเลือกไว้ในฐานะพืชพรรณแห่งความหวังของ De Simone เสน่ห์จากผลไม้พื้นเมือง ที่ผมจะนำไปสู่การปลดปล่อยนักดื่มให้ลอยละล่อง ร่าเริงไปตามรสและกลิ่น  ซึ่งแต่ละชนิดผลไม้ ผมสูดดมจนกระจ่างใจ จนแน่แก่ใจว่า ว่าใช่และมีเอกลักษณ์ 

ขั้นตอนการทดสอบ พิสูจน์ สรุป และคัดเลือกพืชชนิดใดมาเป็นไวน์ ก่อนลงมือทำขั้นตอนสำคัญนั้น ผมจะเลือกตอนเช้า ที่ตื่นมาแล้วสดชื่น ปลอดโปร่ง อารมณ์แจ่มใส และต้องปล่อยวางตัวเองให้ว่างเปล่า  ไร้ความวิตก ไร้ความกังวล อยู่ในอารมณ์ที่นิ่ง มีสติ อย่างที่สุด เพื่อศักยภาพของการดมกลิ่นได้ลึกล้ำที่สุด และชิมรส ให้ได้ลึกซึ้ง ละเมียด ให้มากที่สุด

กระท้อนพื้นเมืองที่ผมเลือก กลิ่นรุกเร้า ดุดัน เข้มแข็ง แน่นหนัก สีออกมาทางคอนญัก หอมกร้านอมเปรี้ยว มีความฝาดเล็กน้อยจากเปลือก ความรู้สึกของผมจึงเหมือนกลิ่นเกษตรกรที่ตากแดดกรากกรำอาบเหงื่อต่างน้ำอยู่บนผืนดินมาชั่วนาตาปี ในขณะที่ตะเปียงจู กลับให้กลิ่นสดชื่น อบอวล และรื่นรมย์ เป็นกลิ่นอายของปัญญาชน มีรสนิยม เมื่อจิบละเลียดให้ความรู้สึกถึงความมีอารยธรรม เหมาะสำหรับนักดื่มที่เป็นชนชั้นกลางหรือปัญญาชน ที่ไม่ได้โหยหาความเมามาย หากแต่ดื่มเพราะชมชอบบรรยากาศ การได้ปลดปล่อยให้อารมณ์โลดแล่นระเริง เท่านั้น

ผมมีความสุขทุกครั้ง ที่ค้นพบเสน่ห์ ค้นพบเอกลักษณ์โดดเด่นจากผลไม้เมืองพื้นเมือง แต่ละชนิด เงินกู้ก้อนแรกถูกนำมาปลูกสร้างโรงบ่ม (ราคาถูกๆ จากสังกะสีเก่าๆ) มันอาจจะเป็นสิ่งปลูกสร้างที่น่าขำสำหรับในสายตาคนมีทุน แต่สำหรับเกษตรกรอย่างผม หรือใครหลายๆคน นี่ประติมากรรมสิ่งปลูกสร้างที่งดงามและดูวิจิตร โดยเฉพาะเมื่อนึกขึ้นทีไรว่า  “เราคนจนกำลังจะมีโรงบ่มไวน์ มีแบรนด์เป็นของตัวเอง”   นึกทีไร ก็อิ่มเอิบทุกที

แต่วันนี้ ผมเพิ่งนึกขึ้นได้ ว่า มีคำสุดท้าย ที่หัวหน้าฐิตยุทธ เดื่อมขันมณี อดีตหัวหน้าสรรพสามิต สาขาปราสาท ท่านเตือนผมไว้ ก่อนท่านเกษียณ คือ  “หาอาชีพสำรองไว้ด้วยนะ...ไนล์”

ผมเข้าใจแล้ว ครับ ผมเห็นกฎหมายชั่วช้า นี้แล้ว เป็นกฎหมายที่คับแคบอคติ กดทับความฝัน ความปรารถนา และปิดโอกาสที่จะพลิกฟื้นชีวิตปากท้องของคนยากคนจนเกษตรกร ในประเทศนี้ แล้ว....

ใครก็ได้ ฟังผมที  ผมเศร้าเหลือเกิน....
!! 
 

 

โดย เกษตรกรขบถ ไร่ทวนลม

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม