จดหมายเปิดผนึกถึง    การประชุมสหประชาชาติผ่านอินเตอร์เน็ตเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน: ปัญหาท้าทายใหม่ แนวทางการดำเนินงานใหม่ เอเชียและแปซิฟิก

1451 16 Jun 2020

จดหมายเปิดผนึกถึงคณะผู้จัด    การประชุมสหประชาชาติผ่านอินเตอร์เน็ตเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน: ปัญหาท้าทายใหม่ แนวทางการดำเนินงานใหม่ เอเชียและแปซิฟิก ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 9-11 มิถุนายน 2563

เรียน คณะทำงานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNWG), สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP), องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO), กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF), องค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN  Women) และ คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP)

หน่วยงานและบุคคลซึ่งมีชื่อด้านท้าย ขอให้คณะทำงาน UNWG และหน่วยงานอื่น ๆ ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับธุรกิจและสิทธิมนุษยชน เข้าแทรกแซงและเน้นให้เห็นถึงสถานการณ์การคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมต่อผู้หญิงและผู้ชายนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เป้าหมายตามที่ประกาศไว้ของเวทีนี้รวมถึง “การอำนวยการให้เกิดการเรียนรู้ และโอกาสการสร้างเครือข่ายขององค์กรภาคประชาสังคมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และการประเมินว่าจะสามารถกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และเอาชนะอุปสรรคเพื่อให้เข้าถึงการเยียวยาได้” 

การคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรม ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการทำงานของผู้หญิงและผู้ชายนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย การคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมโดยรัฐและ/หรือหน่วยงานธุรกิจ ถือว่าละเมิดหลักการชี้นำแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน

การคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมต่อผู้หญิงและผู้ชายนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ละเมิดเสาหลักทั้งสามประการของ หลักการชี้นำแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน รวมทั้ง 

1. หน้าที่ของรัฐในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

2. ความรับผิดชอบของบรรษัทที่จะต้องเคารพสิทธิมนุษยชน

3. การเข้าถึงการเยียวยาของผู้เสียหายจากการปฏิบัติมิชอบเนื่องจากการทำธุรกิจ

หลักการชี้นำยังกำหนดว่า “เมื่อมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยบริษัท รัฐบาลต้องดำเนินการให้เกิดการเยียวยาที่เข้มแข็งและเหมาะสมต่อผู้เสียหาย”

เราเชื่อว่า การคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมและการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ (SLAPP) ของภาคธุรกิจ จะเป็นประเด็นสำคัญในการพิจารณาในเวทีนี้ 

เราจึงเรียกร้องผู้จัด ให้จัดให้มีการอภิปรายในประเด็นการคุ้มครองผู้หญิงและผู้ชายนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในทุกรายการ และให้เป็นส่วนหนึ่งของข้อเสนอเพื่อการดำเนินงานจากเวทีนี้

นอกจากนั้น ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยตอนนี้ ได้ตกเป็นเป้าหมายการฟ้องคดีเพื่อขัดขวางการดำเนินงานเพื่อปกป้องสิทธิในที่ดิน ที่อยู่อาศัย สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรในท้องถิ่น 

นับแต่ปี 2557 Protection International รายงานว่า ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 440 คนถูกดำเนินคดี และตั้งแต่ปี 2560 ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกว่า 200 คนถูกดำเนินคดี ผู้ที่ตกเป็นจำเลยในคดีเหล่านี้มักเป็นผู้หญิงยากจนในเขตเมืองที่ถูกไล่รื้อจากที่อยู่อาศัย ตามมาด้วยจำเลยที่เป็นผู้หญิงซึ่งทำงานปกป้องที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนของตน ผู้ฟ้องคดีเหล่านี้ประกอบด้วยบริษัทเหมืองแร่ บริษัทปาล์มน้ำมัน และหน่วยงานของรัฐบางแห่ง 

ช่วงที่ผ่านมาแทนที่จะสนับสนุนและคุ้มครองผู้หญิงและผู้ชายนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รัฐบาลไทยกลับมีท่าทีสนับสนุนให้บริษัทสามารถคุกคามและข่มขู่โดยผ่านกระบวนการยุติธรรมและรูปแบบอื่น ๆ

ยกตัวอย่างเช่น บริษัทเหมืองทองคำซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐบางคน ได้กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง รวมทั้งการทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรงเมื่อปี 2557 โดยผู้เสียหายเป็นสมาชิกกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด องค์กรชุมชนที่มีแกนนำเป็นผู้หญิงในจังหวัดเลย ต่อมายังมีการฟ้องคดีประมาณ 22 คดีต่อผู้หญิงและผู้ชายนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยผู้ฟ้องประกอบด้วยทั้งบริษัทและหน่วยงานของรัฐ ในหลายพื้นที่ในประเทสไทยทางการดำเนินคดีกับแกนนำชุมชน ในข้อหาละเมิดพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ โดยเป็นผลจากการรวมตัวประท้วงอย่างสงบเพื่อต่อต้านโครงการที่สร้างความเสียหายในพื้นที่ของตน

คดีที่มักมีการฟ้องผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้แก่ คดีหมิ่นประมาท ซึ่งถือเป็นความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา ในลักษณะความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพและชื่อเสียง มาตรา 326-333

การกำหนดเป้าหมายเป็นผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เป็นไปตามยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ของบริษัท เพราะการดำเนินคดีกับผู้หญิงคนเดียว ย่อมส่งผลกระทบต่อทั้งครอบครัวและอาจรวมถึงทั้งชุมชน เนื่องจากผู้หญิงเป็นผู้รับผิดชอบดูแลครอบครัว เมื่อต้องใช้เวลาต่อสู้คดี ย่อมมีเวลาน้อยลงในการทำงานดูแลครอบครัว นอกจากเป็นการแทรกแซงต่อความจำเป็นในการดูแลครอบครัวแล้ว การที่ผู้หญิงต้องออกไปต่อสู้คดีทำให้ถูกมองว่า “เพิกเฉยต่อหน้าที่ของตนเอง” กลายเป็นตราบาปอันเป็นเหตุให้มีการมองว่าผู้หญิงไม่ได้ดูแลครอบครัวของตนเองอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในชุมชนชนบท การพิจารณาคดีมักเกิดขึ้นที่ศาลระดับจังหวัด ซึ่งตั้งอยู่ห่างไกลจากชุมชนของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ภาระที่เพิ่มขึ้นทั้งการดูแลบุตร การเดินทาง และค่าใช้จ่ายในการสู้คดี ทำให้เกิดความเครียดและความยากลำบากในชีวิตมากขึ้น ทั้งยังทำให้ผู้หญิงเหล่านี้ไม่สามารถทำงานที่มีรายได้ได้เต็มเวลา เนื่องจากต้องไปขึ้นศาล การคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมต่อชุมชนของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ทำให้เสี่ยงที่จะเป็นการปิดปากให้พวกเขาไม่สามารถแสดงความเห็นที่สำคัญ ทำให้สังคมไม่ตระหนักถึงความจำเป็นที่สำคัญมากสุดของพวกเขา

การคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมของบริษัท/บรรษัท ยังเกิดขึ้นกับผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ ที่ทำงานสนับสนุนผู้หญิงและชุมชนระดับรากหญ้า ยกตัวอย่างเช่น ปัจจุบันมีการฟ้องคดีหมิ่นประมาททางอาญาหลายคดีต่ออังคณา นีละไพจิตร ผู้รับรางวัลแมกไซไซประจำปี 2562 และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้รณรงค์สำคัญเพื่อสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรม บริษัทแห่งเดียวกันยังฟ้องคดีอีกอย่างน้อย 37 คดีต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 22 คน ประกอบด้วย พุทธณี กางกั้น, ธนภรณ์ สาลีผล, สุธารี วรรณศิริ, สุชาณี  คลัวเทรอ (ผู้สื่อข่าว), สุธาสีนี แก้วเหล็กไหล (นักสหภาพแรงงาน), งามศุกร์ รัตนเสถียร (อาจารย์) และผู้หญิงและผู้ชายนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่สำคัญอีกหลายคน

คดีหมิ่นประมาทต่อบุคคลเหล่านี้มีโทษจำคุกระหว่าง 8-42 ปี และมีค่าปรับระหว่าง 800,000-4.2 ล้านบาท คดีเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการกระทำเพียงเล็กน้อย รวมทั้งการแชร์ทวีตให้กำลังใจแรงงานข้ามชาติ ที่ต่อสู้เรียกร้องสิทธิด้านแรงงานของตน 

การถูกดำเนินคดีเช่นนี้ไม่เพียงทำให้เสียเวลาและเสียเงิน หากยังส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาวะทางอารมณ์ เนื่องจากเป็นการโจมตีอย่างจงใจและมียุทธศาสตร์ เมื่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่มีชื่อเสียงและมีความสำคัญถูกฟ้อง ย่อมส่งผลให้ผู้หญิงและผู้ชายนักปกป้องสิทธิมนุษยชนคนอื่น ๆ เกิดความหวาดกลัว และกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรม

การคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมและการฟ้องคดีฟ้องปิดปาก ทำให้เกิดบรรยากาศของความหวาดกลัวและความเงียบ ในบรรดาผู้หญิงและผู้ชายนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และชุมชนซึ่งถูกละเมิดสิทธิ (หรือเสี่ยงที่จะถูกละเมิดสิทธิ)

ในระหว่างการระบาดของโรคโควิด-19 และหลังจากนั้น หน่วยงานธุรกิจย่อมมองหาแนวทางที่จะฟื้นฟูกิจการจากภาวะขาดทุน และมุ่งทำกำไรให้เร็วสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ การทำงานของผู้หญิงและผู้ชายนักปกป้องสิทธิมนุษยชน จะยิ่งมีความสำคัญยิ่งขึ้นสำหรับรัฐบาลไทย และหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ผู้หญิงและผู้ชายนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เป็นบุคคลที่มีบทบาทมากสุดที่จะเน้นให้เห็นปัญหาการละเมิด หรือการคุกคามต่อสิทธิมนุษยชน เพื่อประกันว่า หน่วยงานธุรกิจจะปฏิบัติตามหลักการและพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชน

ในขณะที่รัฐบาลปล่อยให้เกิดการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมต่อไป โดยไม่มีการตรวจสอบ ย่อมส่งผลให้การทำงานที่สำคัญเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนมีความเสี่ยงอันตราย และดำเนินการได้ยากขึ้น สุดท้ายแล้วย่อมส่งผลกระทบต่อทั้งธุรกิจและสิทธิมนุษยชน

ด้วยเหตุดังกล่าว ผู้มีรายชื่อด้านท้ายจึงกระตุ้นให้เวทีสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ใช้โอกาสนี้แสดงจุดยืนที่เข้มแข็ง เพื่อสนับสนุนการคุ้มครองผู้หญิงและผู้ชายนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ให้ปลอดจากการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมและการฟ้องคดีปิดปาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราเสนอให้ท่านยกประเด็นต่อไปนี้เพื่อพูดคุยกับรัฐบาลไทย

1. ความจำเป็นที่จะต้องแก้ปัญหาการดำเนินคดีเพื่อขัดขวางการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีการนำเสนอประเด็นนี้แล้วในรายงานและข้อเสนอแนะของคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนนับแต่ปี 2561 เรากระตุ้นให้คณะทำงานและคณะผู้จัดเวที ร้องขอให้รัฐบาลไทยรายงานความคืบหน้าในการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะเหล่านี้

2. แผนปฏิบัติการเพื่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เป็นหนึ่งในสี่องค์ประกอบหลักของแผนปฏิบัติการแห่งชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้การคุ้มครองหรือรับรองการทำงานของผู้หญิงและผู้ชายนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นผล แผนปฏิบัติการแห่งชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน และมติที่ให้ความคุ้มครองในกระบวนการยุติธรรม ยังไม่มีสถานะเป็นกฎหมาย โดยถือเป็นเพียงมติของฝ่ายบริหารของรัฐบาลไทย ซึ่งมีสถานะเป็นเพียง “กฎ” ตามมาตรา 3 ของพระราชบัญญัติจัดตังศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 จึงไม่มีน้ำหนักในแง่กระบวนการยุติธรรมหรือไม่สามารถบังคับใช้ได้

3. ในปี 2562 มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 161/1 และ 165/2 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อหาทางแก้ปัญหาการฟ้องคดีฟ้องปิดปาก และการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมในรูปแบบอื่น การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเช่นนี้เปิดโอกาสให้ศาลสามารถยกฟ้องคดี หรือห้ามบุคคลเอกชนฟ้องคดีใหม่ กรณีที่เห็นว่าเป็นการฟ้องคดี “โดยไม่สุจริตหรือโดยบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบจำเลย อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมายังไม่มีการใช้มาตราใหม่นี้อย่างเป็นผล ในกฎหมายไม่มีการให้นิยามคำว่า “โดยไม่สุจริต” ด้วยซ้ำ ส่งผลให้ตกเป็นดุลพินิจของศาล จนถึงปัจจุบัน การร้องขอต่อศาลให้ใช้อำนาจตามมาตรา 161/1 ในคดีต่อผู้หญิงและผู้ชายนักปกป้องสิทธิมนุษยชน มักถูกปฏิเสธ

4. ตามมาตรา 21 ของพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 พนักงานอัยการมีอำนาจสั่งไม่ฟ้องคดีในลักษณะที่เป็นการคุกคาม ข่มขู่ หรือตอบโต้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหรืออื่น ๆ อย่างไรก็ดี การสั่งไม่ฟ้องคดีไม่ได้เป็นอำนาจเฉพาะของอัยการสูงสุด หากมีขั้นตอนปฏิบัติที่ยาวนาน และไม่เป็นที่ชัดเจนว่าที่ผ่านมามีการให้ทรัพยากรและความช่วยเหลืออย่างเพียงพอต่อสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อให้ใช้อำนาจของตนได้อย่างเป็นผลและมีประสิทธิภาพหรือไม่

5. นอกจากนี้ยังไม่มีการกำหนดขั้นตอนปฏิบัติ หรือข้อบทที่ชัดเจนเกี่ยวกับการสั่งปรับ หรือการลงโทษหน่วยงานธุรกิจที่ถูกตัดสินว่ามีความผิด ฐานคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมต่อผู้หญิงและผู้ชายนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เรากระตุ้นให้รัฐขัดขวางการข่มขู่และการคุกคามทุกชนิด ผู้ที่รับผิดชอบต่อการโจมตีทำร้ายนักปกป้อง รวมทั้งผู้ที่อยู่เบื้องหลังการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมต้องได้รับโทษ ผู้ที่ถูกตัดสินว่าไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ในการดูแลเพื่อสนับสนุนและคุ้มครองผู้หญิงและผู้ชายนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ต้องได้รับผลจากการกระทำทั้งในทางการเมือง การเงิน และในระบบยุติธรรม

6. ความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งแม้พิสูจน์ว่าเป็นจริง ไม่ได้เป็นความผิดที่สร้างอันตรายต่อชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สิน จึงไม่ควรถือเป็นความผิดทางอาญา ซึ่งมีบทลงโทษจำคุกและ/หรือค่าปรับจำนวนมาก การลงโทษเช่นนี้ควรมาใช้เฉพาะกับอาชญากรรมร้ายแรง เราจึงกระตุ้นให้คณะทำงานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน และหน่วยงานอื่น ๆ สนับสนุนอย่างเต็มที่ ให้รัฐบาลไทยลดการเอาผิดทางอาญากับความผิดฐานหมิ่นประมาท และให้ยกเลิกบทลงโทษทางอาญาใด ๆ กับความผิดฐานหมิ่นประมาท

7. เราเรียกร้องผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ทำงานในประเด็นธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ให้ใช้ทรัพยากรและอำนาจที่มีอยู่เพื่อประกันว่า รัฐบาลไทยและหน่วยงานธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย จะยุติการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมต่อผู้หญิงและผู้ชายนักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยทันที โดยเฉพาะต่อผู้หญิง และให้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อส่งเสริมการทำธุรกิจที่ดีและมีการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนอย่างจริงใจ

เราขอขอบคุณที่ท่านให้ความสนใจต่อข้อกังวลและประเด็นในจดหมายนี้ และหวังว่าจะได้ทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยและหน่วยงานสหประชาชาติที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกันให้มีการคุ้มครองหลักการธุรกิจและสิทธิมนุษยชนสำหรับทุกคน

ขอแสดงความนับถือ

รายชื่อผู้ลงนาม

Community Resource Centre Foundation – มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน

เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ประเทศไทย

กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา

โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ ( PPM)

Empower Foundation

Justice for Peace Foundation - มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ

Protection International

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม