ระยะห่างระหว่างการลงโทษทางสังคมกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในสถานการณ์โรคโควิด 19

1639 16 Jun 2020

( ขอบคุณภาพ จาก : https://thailand-property-news.knightfrank.co.th/2020/05/07/7-new-normal-%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1/ )

ภาคภูมิ  แสวงคำ

สมาคมพราว

19/5/2563

นับตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2563 ที่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ประกาศให้การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 : COVID-19) เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern : PHEIC) ตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ (International Health Regulation : IHR)  ปี 2548   กฎIHR นั้นถือเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ(Treaty) เพื่อป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพที่ก่อให้เกิดหรืออาจก่อให้เกิดภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ  โดยยอมรับอธิปไตยของแต่ละประเทศ และการเคารพศักดิ์ศรี สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพพื้นฐานของผู้เดินทางและขนส่งระหว่างประเทศ

น่ายินดีที่กระทรวงสาธารณสุขของไทยได้รับการรับรองตามการประเมินสมรรถนะด้านการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคตามกฎ IHR  ในปี 2560 โดยวัดผลสำเร็จจากการกำหนดแผนยุทธศาสตร์การพัฒนางานด้านกฎ IHR  ระหว่างปี 2560 – 2564       ความครอบคลุมของโครงการวัคซีนพื้นฐานป้องกันโรคหัด โครงการฝึกอบรมนักระบาดวิทยาภาคสนาม (Field Epidemiology Training Programme : FETP) ที่สามารถผลิตนักระบาดวิทยาให้เป็นเครือข่ายของทีมเฝ้าระวังสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว (Surveillance and Rapid Response Team : SRRT) ในระดับพื้นที่

ทว่าท่ามกลางบรรยากาศความหวาดกลัวและความสับสนต่อโรคโควิด 19 ในแง่โรคอุบัติใหม่(Emerging disease) ได้นำมาซึ่งปรากฏการณ์ทางสังคม ทั้งการล่าแม่มด (Witch-hunting) การกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ (Cyber bully) โดยเฉพาะการตีตราทางสังคม (Public stigma) ด้วยการปฏิบัติต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลด้วยการเรียกชื่อแบบดูแคลน เหมารวม เลือกปฏิบัติหรือทำให้สูญเสียสถานะด้วยการเชื่อมโยงเข้ากับโรคติดต่อ ไล่เรียงจากคนไทยที่ยังทยอยเดินทางกลับจากต่างประเทศ ก่อนบังคับใช้มาตรการตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ โดยบางส่วนไม่ผ่านมาตรการแยกกัก (Isolation) หรือฝ่าฝืนมาตรการกักตัวของรัฐ (State quarantine) การกักตัวในภูมิลำเนา (Local quarantine)  หรือการกักตัวอยู่ในบ้าน (Home quarantine) ต่อมากลายเป็นประเด็นปัญหาการเปิดเผยและส่งต่อข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ต้องสงสัยหรือผู้สัมผัสเชื้อไวรัส โดยเฉพาะชื่อสกุล ภูมิลำเนาถิ่นที่อยู่  กระทั่งโจมตีพฤติกรรมของบุคคลที่ขาดความตระหนักในการป้องกัน เช่น บุคคลที่ไม่สวมหน้ากากอนามัย ผู้โดยสารรถสาธารณะหรือผู้รับบริจาคสิ่งของบรรเทาทุกข์โดยไม่เว้นระยะห่างทางภายภาพ (Physical distancing) กลุ่มคนที่รวมกันดื่มสุราหรือเล่นการพนัน บรรดาปรากฏการณ์เหล่านี้เกินกว่าการวิจารณ์โดยสุจริตเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่ยกระดับเป็นการประจาน จนอาจส่งผลกระทบที่สร้างความกดดันเกลียดชังต่อบุคคลทั้งผู้ป่วย ผู้ดูแลคนป่วย ครอบครัว เพื่อนและชุมชน

คำอธิบายต่อบรรดาพฤติกรรมของผู้คนดังกล่าว  หากประเมินด้วยแนวคิดการลงโทษโดยสังคม (Social sanctions) อาจประเมินว่าเป็นปฏิกิริยาการตอบสนองและควบคุมทางสังคมในเชิงลบ ด้วยการทำให้อับอาย ลดทอนคุณค่า การเลิกให้ความเคารพนับถือต่อบุคคลที่มีพฤติกรรมไม่รับผิดชอบต่อสังคมตามมาตรการของรัฐ   แต่กลไก  “ตัดสินผู้อื่น” โดยเฉพาะใครๆในสื่อสังคมก็สามารถอุปโลกน์ตนเองขึ้นเป็นผู้วินิจฉัยหรือสอบสวนโรค (Patient under investigated: PUI) แทนนักระบาดวิทยา   หลายกรณีจึงเป็นการขยายวงผู้ที่ตกเป็น “เหยื่อ”  ทั้งผลักไสให้ผู้ป่วยหรือผู้ที่สันนิษฐานว่าติดเชื้อให้เป็นเสมือน “อาชญากร”

ผลกระทบที่มาพร้อมกับภาวะโรคระบาด ได้แก่ การตีตราผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 โดยบทความเรื่อง The Stigma Effect โดย Dr. Patrick Corrigan อธิบายและจำแนกประเภทของการตีตราออกเป็น 3 ประการ ประการแรก คือการตีตราทางสังคม (Public stigma) ที่สังคมสร้างตราบาปหรือมลทินแก่ผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วยด้วยการเลือกปฏิบัติหรือกีดกันให้แยกตัวออกจากชุมชน  ประการต่อมาคือ การตีตราตัวเอง (Self-stigma) คือผู้ที่ขาดความเคารพและละอายใจตัวเองจนปกปิดอาการเจ็บป่วย  และประการสุดท้ายคือ การหลีกเลี่ยงการถูกตีตรา (Label avoidance) คือผู้ที่ถูกสันนิษฐานหรือแขวนป้ายว่าอาจติดเชื้อ ส่งผลให้บุคคลนั้นปฏิเสธการตรวจหรือรักษา ขาดกำลังใจที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสุขภาพที่ดี เพราะไม่อยากถูกสังคมตีตรา  กลายเป็นปัญหาสุขภาพที่รุนแรงขึ้นและยากต่อการควบคุมการแพร่ระบาดหรือติดตาม

การสร้างความตระหนักเพื่อเห็นคุณค่าของบุคคลและไม่รุกล้ำละเมิดความเป็นส่วนตัว (Privacy rights) และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (Human dignity) ของผู้ป่วยหรือประชาชนกลุ่มเสี่ยง จึงต้องพิจารณาตามมาตรฐานวิชาชีพบุคลากรทางการแพทย์  มาตรฐานจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน และมาตรฐานชุมชนทางสื่อสังคม  ทั้งนี้  ผู้เขียนขอให้น้ำหนักต่อการคุ้มครองข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลเป็นสำคัญ จึงขอหลีกเลี่ยงไม่กล่าวถึงมาตรการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่จะมีผลบังคับใช้ต่อไป

มาตรฐานวิชาชีพบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาลและสาธารณสุขต่อการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและการรักษาความลับทั้งการวินิจฉัยและการรักษา ผู้ประกอบวิชาชีพไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วยได้ ตัวอย่างเช่นพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550  ในมาตรา 7  ระบุว่า “ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล เป็นความลับส่วนบุคคล  ผู้ใดจะนำไปเปิดเผยในประการที่น่าจะทำให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้  เว้นแต่การเปิดเผยนั้นเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของบุคคลนั้นโดยตรง หรือมีกฎหมายเฉพาะ แต่ไม่ว่าในกรณีใดๆ  ผู้ใดจะอาศัยอำนาจหรือสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการหรือกฎหมายอื่น  เพื่อขอเอกสารเกี่ยวกับข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลที่ไม่ใช่ของตนไม่ได้”   สอดคล้องกับคำประกาศสิทธิของผู้ป่วยและข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วย พ.ศ.2558 ที่รับรองโดยกระทรวงสาธารณสุข แพทยสภา  สภาการพยาบาล  สภาเภสัชกรรม  ทันตแพทยสภา  สภาเทคนิคการแพทย์ และสภากายภาพบำบัด ในข้อ 6 ที่ว่า “ ผู้ป่วยมีสิทธิได้รับการปกปิดข้อมูลของตนเอง  เว้นแต่ผู้ป่วยจะให้ความยินยอมหรือเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ เพื่อประโยชน์โดยตรงของผู้ป่วยหรือตามกฎหมาย”

มาตรฐานจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน ปัจจุบันพบรายการเล่าข่าวบางสำนักแข่งขันกันนำเสนอข่าวขุดคุ้ยเจาะลึกผสมความคิดเห็นส่วนตัว เช่น การชี้เป้าถึงบ้านของบุคคลกลุ่มที่เดินทางมาจากต่างประเทศที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย        การนำเสนอข่าววัดบางแห่งปฏิเสธไม่รับศพผู้ป่วยโรคโควิด19 มาบำเพ็ญกุศล หรือเน้นเปิดเผยบรรยายรายละเอียดขั้นตอนการจัดการบรรจุศพผู้ป่วย จนละเลยการเคารพสิทธิในความเป็นส่วนตัวและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ตาย  ทั้งที่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติได้ออก “แนวทางการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนในภาวะวิกฤติ” ปี 2562       (ข้อ 6  ระบุว่าผู้ปฏิบัติงานข่าวต้องคำนึงถึงสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้ประสบภาวะวิกฤต หลีกเลี่ยงการเสนอภาพข่าว และภาษาที่มีลักษณะอุจาด สยดสยอง หรือละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งระมัดระวังการนำเสนอประเด็นเปราะบางทั้งด้านสิทธิมนุษยชน ความแตกต่างทางความเชื่อและวัฒนธรรม และความสูญเสีย อันเป็นการซ้ำเติมผู้ประสบภาวะวิกฤตหรือสถานการณ์นั้นๆ)  ในอนาคตร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดรับฟังความคิดเห็นจึงน่าจะเป็นความหวังของวิชาชีพสื่อมวลชนที่สื่อสารด้วยภาษาที่เคารพและคำนึงถึงความเป็นมนุษย์ (people-first language) ยิ่งขึ้น

มาตรฐานชุมชนทางสื่อสังคม ถือเป็นส่วนที่ควบคุมเนื้อหายากลำบากที่สุด ตัวอย่างล่าสุดสื่อสังคมระดับโลกอย่าง Facebook  ออกจดหมายแถลงการณ์เพื่อจัดตั้ง Independent Oversight Board หรือคณะกรรมการกำกับดูแลมาตรฐานชุมชน (Community Standards) เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลเนื้อหา (content) ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าพื้นที่สื่อสังคมจำนวนมากถูกใช้เป็นเครื่องมือเผยแพร่ถ้อยคำที่สร้างความเกลียดชัง (Hate speech) และความรุนแรง โดยเฉพาะการพุ่งเป้าโจมตีกลุ่มบุคคลด้วยเหตุผลทางชาติพันธุ์ ศาสนา เพศ หรือรสนิยมทางเพศ   เช่นเดียวกับในสังคมไทยที่พบทัศนะตัดสินคุณค่า การผลิตซ้ำอคติโดยรัฐต่อกลุ่มประชากรเปราะบางที่มักเป็นเป้าการเหมารวม (Stereotype) และเลือกปฏิบัติให้ตกเป็นแพะรับบาป (Scapegoat) จากโรคติดต่อได้แก่  แรงงานข้ามชาติ ผู้ต้องกักในศูนย์กักตัวผู้ต้องกักของตม.  หรือศาสนิกชนที่กลับมาจากปฏิบัติศาสนกิจ ด้วยการโจมตีเพียงอัตลักษณ์มากกว่าคำนึงถึงพฤติกรรมเสี่ยงรายบุคคล

พฤติกรรมประจานผู้อื่นย่อมเข้าข่ายความผิดอาญาฐานหมิ่นประมาท ด้วยการ “ใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทําให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง"   หรือการหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาทั้งด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทําให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร โดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ" ปรากฏการณ์ดื้อแพ่งของผู้คนย่อมสะท้อนถึงนิติสำนึก (Legal consciousness) หรือท่าทีการรับรู้ ความตระหนักหรือสำนึกต่อระเบียบกฎหมายของสามัญชนหรือบุคคลทั่วไปในภาคปฏิบัติการจริง หรือที่เรียกว่า “กฎหมายมีชีวิต” (Living law) มากกว่าเพียงกฎหมายลายลักษณ์อักษรในตำรา

ข้อเสนอแนะนอกเหนือจากการใช้มาตรการทางกฎหมายในการปิดสถานที่ จำกัดกิจกรรมทางสังคมเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ  รัฐพึงให้น้ำหนักต่อการรักษาความมั่นคงของมนุษย์ ทั้งหลักประกันด้านสิทธิการตรวจรักษา ความปลอดภัย ความจำเป็นขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะการมีงานทำและชดเชยรายได้ถ้วนหน้า   ตลอดจนใช้มาตรการจิตวิทยาสังคมให้เข้าถึงผู้คนในทุกชนชั้นที่ได้รับผลกระทบ โดยจัดบุคลากรจากกรมสุขภาพจิตหรือคณะจิตวิทยา ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคมและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) เพื่อปฏิบัติงานติดตามฟื้นฟูสุขภาพจิตของคนในชุมชน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุและผู้ป่วยเรื้อรัง คนไร้บ้าน การสร้างความเข้าใจต่อสาธารณะด้วยชุดข้อมูลโรคที่ถูกต้อง การสร้างพื้นที่กิจกรรมและสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการลดการตีตรา

ความสำเร็จจากการประเมินสมรรถนะด้านการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHR) และการป้องกันการแพร่ระบาดด้วยการรักษาระยะห่างทางสังคม ยังจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรักษาระยะห่างระหว่างการลงโทษทางสังคม กับการไม่ละเมิดต่อสิทธิความเป็นส่วนตัวและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล  เพราะแท้จริงแล้วโลกกำลัง “ต่อสู้กับไวรัส  ไม่ใช่ผู้คน” (Fight the Virus, not the People)  ยิ่งสังคมให้ความเคารพ ไม่ตีตราและมองเห็นคุณค่าของผู้คนที่แตกต่างหลากหลาย  ก็ยิ่งจะกลายเป็นรูปธรรมของการ “ไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง” (No One left behind) หรือ “คนไทยไม่ทิ้งกัน” อย่างแท้จริง.

เอกสารประกอบการเขียน                                                                                                                  

  1. สมชาย  ปรีชาศิลปะกุล (2558) การวิจัยกฎหมายทางเลือก แนวคิดและพรมแดนความรู้
  2. สังศิต  พิริยะรังสรรค์ (2559) เศรษฐศาสตร์การเมือง การลงโทษโดยสังคม Social Sanctions
  3. การตีตราทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 ดูที่ https://www.who.int/docs/default-source/searo/thailand/covid19-stigma-guide-th-final.pdf
  4. Facebook commitment to the Oversight Board ดูที่ https://about.fb.com/wp-content/uploads/2019/09/letter-from-mark-zuckerberg-on-oversight-board-charter.pdf
  5. Patrick Corrigan, On the Stigma of COVID-19 : Let’s separate the illness from the patient ดูที่https://www.psychologytoday.com/us/blog/the-stigma-effect/202004/the-stigma-covid-19

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม