21 มกรา ประชาธิปไตยและความอยู่รอดของพรรค

1756 25 Mar 2020

 

( ขอบคุณ ภาพจาก นสพ.มติชน  : https://www.matichon.co.th/article/news_1822038 ) 

          14 ธันวาคม 2562 ที่บริเวณสะพานลอยฟ้า หรือสกายวอล์ค สี่แยกปทุมวัน ประชาชนออกมาแสดงออกถึงความไม่พอใจรัฐบาลสืบทอดอำนาจจากเผด็จการทหาร คสช. กันอย่างเนืองแน่นจนล้นลงไปที่ลานหน้าหอศิลป์ (หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร) น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้นอกสภาของขบวนประชาธิปไตยไทยที่พรรคอนาคตใหม่ปลุกให้มีความหวัง

          "วันนี้คือจุดเริ่มต้นของการแสดงพลัง แสดงออกให้พวกเขารู้ว่า ประชาชนเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดในประเทศนี้ เห็นหัวประชาชนบ้าง เรามารวมกันวันนี้ นี่คือการต่อสู้เพื่ออนาคตของคนไทยทุกคน ปัญหาทุกอย่างของประเทศนี้ ไม่มีทางแก้ได้ถ้ารัฐธรรมนูญชุดนี้ยังอยู่ ไม่มีทางแก้ไขได้ถ้ารัฐบาลชุดนี้ยังอยู่"[[1]] นี่คือคำกล่าวของปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ในเย็นวันนั้น

          การนัดหมายแฟลชม็อบในวันนี้เกิดมาจากการเชิญชวนของธนาธรเพียงแค่วันเดียว  ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่คำร้องคดียุบพรรคอนาคตใหม่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จากกรณีหัวหน้าพรรคปล่อยเงินกู้ให้พรรค 191.2 ล้านบาทเพื่อทำกิจกรรมในช่วงเลือกตั้งถูกส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญ  และเป็นที่จับตามองว่าตุลาการทั้ง 9 คน อาจพิจารณาคำร้องในการประชุมวันที่ 18 ธันวาคม 2563 (ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณารับคำร้องไว้เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2562  และออกประกาศเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อนัดฟังคำวินิจฉัยในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563)  ประกอบกับแรงบีบคั้นหลายกรณีจนสุดทานทนจากการที่พรรคถูกกล่าวหาว่ามีแนวคิด และเจตนาล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมีความเชื่อมโยงกับองค์กรลับอย่าง 'อิลลูมินาติ' (Illuminati)  โดยศาลรัฐธรรมนูญได้นัดอ่านคำวินิจฉัยคดีนี้ในวันที่ 21 มกราคม 2563  และคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไปแล้วเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 โดยให้ธนาธรพ้นสภาพความเป็น ส.ส. ย้อนหลังไปนับตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2562 จากกรณีถือหุ้นสื่อ  จึงทำให้จัดแฟลชม็อบนี้ขึ้น 

การฟ้องคดีกลั่นแกล้งที่ถาโถมเข้าหาพรรคอนาคตใหม่เช่นนี้เป็นทั้งภัยคุกคามต่อตัวพรรคเอง  และเป็นทั้งภัยคุกคามต่อสุขภาพประชาธิปไตยของสังคมไทยด้วย  เนื่องจากสิ่งที่พรรคอนาคตใหม่ทำในรอบปีที่ผ่านมานับตั้งแต่มีการเลือกตั้งคือการทำให้สังคมไทยตาสว่าง  ด้วยการยืนหยัดต่อสู้กับเผด็จการอย่างทระนง  สร้างปรากฎการณ์ใหม่ ๆ ในสภาด้วยความขยันขันแข็งและกระตือรือร้น  อีกทั้งทำหน้าที่ในสภาเพื่อปกป้อง และยืนหยัดเคียงข้างผลประโยชน์ของประชาชนอย่างเป็นที่ประจักษ์ 

นับเป็นนิมิตหมายดีงามที่การหายไปของประชาธิปไตยรัฐสภาตลอดห้าปีที่ผ่านมาถูกฟื้นฟูด้วยการมีพรรคการเมืองแบบพรรคอนาคตใหม่เข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชน

ที่น่าสนใจของแฟลชม็อบนี้เกิดมาจากประกาศเชิญชวนเพียงแค่วันเดียวของธนาธร  วัตถุประสงค์หลักก็เพื่อประเมินกำลังของประชาชนว่าจุดเชื่อมต่อระหว่างพรรคอนาคตใหม่กับขบวนประชาธิปไตยไทยมีสภาพเป็นเนื้อเดียวกันแค่ไหน อย่างไร  ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนว่าผู้ที่เข้ามาร่วมแฟลชม็อบมีทั้งที่เป็นและไม่เป็นสมาชิกพรรคอนาคตใหม่  ซึ่งบ่งบอกได้เป็นอย่างดีว่าการนำของธนาธรค่อนข้างมีพลัง

“ที่สำคัญลักษณะการดำเนินกลยุทธ์ของม็อบในปัจจุบันนี้ เปลี่ยนไปจากอดีตแล้ว คือใช้เวลาสั้น มีอารยะ แต่ทำเป็นระยะ ๆ เพื่อส่งสัญญาณสร้างมวลชนในปริมาณที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  เพื่อมุ่งสร้างผลกระทบต่อรัฐบาลในเรื่องความเชื่อมั่นเป็นระยะ ๆ  ที่สำคัญไม่ใช่แค่ใน กทม.  แต่กระจายไปตามหัวเมืองสำคัญ ๆ ด้วย  กลยุทธ์ม็อบแบบนี้ ในตัวแบบต่างประเทศนั้น รัฐบาลจะใช้มาตรการทางกฎหมายกับมวลชนได้ค่อนข้างยาก” ความเห็นของ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร ที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)[[2]] ต่อกรณีแฟลชม็อบดังกล่าว

และนี่คือคำกล่าวของธนาธรในแฟลชม็อบนี้ที่ยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าเขาเตรียมแปรแฟลชม็อบเพื่อรวมพลขับไล่รัฐบาลต้นปี 2563 “ประชาชนมารวมตัวกันเพื่อประกาศศักดาไม่ถอยไม่ทน จะต่อสู้กับการสืบทอดอำนาจ วันนี้ไม่ใช่การมาเพื่อปกป้องพรรคอนาคตใหม่ แต่มาเพื่อปกป้องอนาคตของคนไทยทุกคน ต้องต่อสู้กับความกลัวด้วยความหวัง ต่อสู้กับอดีตด้วยอนาคต อย่ายอมแพ้ ก้าวไปด้วยกัน”[[3]]  นี่คือสิ่งที่ธนาธรและพรรคอนาคตใหม่ประกาศต่อสาธารณชนในวันที่อยู่บนสกายวอล์ค  ซึ่งเป็นอะไรที่ก้าวข้ามความเป็นพรรคการเมืองไปแล้ว  เป็นการส่งสัญญาณว่านับแต่นี้เขาจะสู้กับเผด็จการไม่ใช่เพียงแค่สู้ในนามพรรค  แต่จะสู้ในนามประชาชนด้วย

ล่วงถึงต้นปี 2563 ความหวังของขบวนประชาธิปไตยยิ่งมีมากขึ้นไปอีกจากกิจกรรม ‘วิ่ง-ไล่-ลุง’ พร้อมกันหลายจุดทั่วประเทศ ในวันที่ 12 มกราคม  โดยเฉพาะที่สวนรถไฟกรุงเทพฯที่คนออกมารวมกันไม่ต่ำกว่าหนึ่งหมื่นคน  ความคึกคักของคนรุ่นใหม่ที่ระเบิดความคิดเห็นลงสู่ท้องถนนจากที่เคยระเบิดความคิดเห็นกันอยู่แต่ในโลกออนไลน์ช่างเป็นอะไรที่เจิดจ้าสว่างไสวว่าสังคมไทยมีความหวังที่จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

          และแล้ววันตัดสินชะตาพรรคอนาคตใหม่จากคดีอิลลูมินาติก็มาถึงในวันที่ 21 มกราคม 2563  ศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินไม่ยุบพรรคอนาคตใหม่  โดยให้เหตุผลว่าไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเพียงพอว่าผู้ถูกร้องทั้ง 4 ของพรรคมีเจตนาล้มล้างการปกครอง 

เป็นที่น่าปลาบปลื้มใจที่พรรคอนาคตใหม่หลุดพ้นจากคดีนี้  ทั้ง ๆ ที่ไม่มีความสมเหตุสมผลใด ๆ ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับเป็นคดีตั้งแต่ต้นก็ตาม  แต่ผู้ที่ยืนเคียงข้างอนาคตใหม่ก็กู่ร้องดีใจแบบไม่เต็มเสียงนัก  เพราะรู้อยู่เต็มอกว่าคดีกู้เงินที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาตัดสินในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 อาจจะไม่รอด  อย่างไรก็ตาม  ก็ทำให้พรรคอนาคตใหม่คลายความกังวลใจไปได้บ้าง  และมีการประเมินจากหลายฝ่ายว่าการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวมวลชนนอกสภาในช่วงที่ผ่านมาของพรรคเพื่อที่จะไม่ถอยไม่ทนอีกต่อไปแล้วกับการกลั่นแกล้งนานาของผู้มีอำนาจส่งผลดีต่อคดีอิลลูมินาติ  และมีประสิทธิภาพเสียจนทำให้ ‘เหตุผล’ และ ‘ความชอบธรรม’ ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่บนโลกใบนี้ยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามศาลรัฐธรรมนูญ  จนทำให้ไม่สามารถอ้างเหตุผลและความชอบธรรมใด ๆ มายุบพรรคอนาคตใหม่ได้

ดังนั้น สังคมจึงคาดหวังว่าจะได้เห็นการเคลื่อนไหวแบบสกายวอล์คและแบบวิ่ง-ไล่-ลุงอีกหลังตัดสินคดีอิลลูมินาติในวันที่ 21 มกราคม 2563  เพื่อที่จะแสดงออกถึงการไม่ถอยไม่ทนต่อคดีกู้เงินด้วย  แต่ก็ไม่มีการเคลื่อนไหวใดเกิดขึ้นเลย  ต่างจากบุคลิกของพรรคที่ลุกขึ้นสู้ด้วยการเคลื่อนไหวนอกสภาในช่วงเวลาก่อนตัดสินคดีอิลลูมินาติ  แต่ทำไมพรรคอนาคตใหม่ถึงเปลี่ยนบุคลิกกลายเป็นนิ่งสนิทต่อกรณีกู้เงิน

จึงมีประเด็นที่น่าขบคิดว่าทั้งตัวพรรคอนาคตใหม่เอง  และทั้งผู้ที่ยืนข้างพรรคอนาคตใหม่ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกพรรคหรือไม่ก็ตาม  แท้จริงแล้ว การแสดงออกทั้งในกิจกรรมบนสกายวอล์คและวิ่ง-ไล่-ลุงก็เพื่อที่จะขับเคลื่อนประชาธิปไตยไทยหรือพึงพอใจเพียงแค่แสดงการกดดันไม่ให้ยุบพรรคอนาคตใหม่

ถ้าหากคิดขับเคลื่อนประชาธิปไตยไทยก็ควรที่จะมีการเคลื่อนไหวต่อหลัง 21 มกราคม 2563 ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่หรือไม่ก็ตาม  แต่กลับเงียบสนิท  เพราะพอใจแล้วกับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่ยุบพรรคอนาคตใหม่ใช่หรือไม่

เหล่านี้ล้วนเป็นคำถามที่ไม่ดังพอที่พรรคอนาคตใหม่จะตอบ  หรืออาจเป็นเพราะวิกฤตที่กำลังคุกคามรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่  จึงทำให้สังคมเบี่ยงเบนความสนใจและไม่มีเวลาพอที่จะถามให้พรรคอนาคตใหม่ได้ตอบต่อสาธารณะให้ชัดเจน

มันจึงทำให้คำประกาศบนสกายวอล์คและวิ่ง-ไล่-ลุง ที่จะขับเคลื่อนประชาธิปไตยไทยที่มากยิ่งไปกว่าความอยู่รอดของพรรคอนาคตใหม่ล่องลอยหายไปกับสายลม  แต่ถ้าคิดในแง่ดี  อย่างน้อยที่สุดความอยู่รอดของพรรคอนาคตใหม่ก็ส่งผลโดยตรงกับความอยู่รอดของประชาธิปไตยไทยด้วยเช่นเดียวกัน  ณ เวลานี้ หากจะขยับอะไรไปไกลกว่าความอยู่รอดของพรรคก็อาจจะถูกโจมตีว่าได้คืบเอาศอกและสร้างความวุ่นวายมากเกินควร  ซึ่งอาจทำให้ผู้มีอำนาจไม่พอใจจนส่งผลให้คดีกู้เงินไม่รอดได้  จึงต้องนิ่งเงียบและสงบเสงี่ยมไว้ไม่ให้ระคายเคืองต่อผู้มีอำนาจเพื่อหวังว่าพรรคอาจจะรอดได้จากคดีกู้เงิน.

 

 

[[1]] ข่าวประชาไท ‘แฟลชม็อบแน่นสกายวอล์ค-ล้นลงลานหน้าหอศิลป์ 'ธนาธร' ลั่นไม่ทน-ไม่ถอยให้เผด็จการ’  Submitted on Sat, 2019-12-14 19:06  เข้าถึงข้อมูลออนไลน์ได้ที่ https://prachatai.com/journal/2019/12/85545  คัดลอกเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563

[[2]] ข่าวมติชนออนไลน์ ‘วิเคราะห์ แฟลชม็อบอนาคตใหม่ บทพิสูจน์พลังประชาชน’ วันที่ 16 ธันวาคม 2562 - 14:00 น.  เข้าถึงข้อมูลออนไลน์ได้ที่ https://www.matichon.co.th/politics/news_1816742  คัดลอกเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563

[[3]] ข่าวบีบีซี ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เตรียมแปรแฟลชม็อบ "ไม่ถอยไม่ทน" รวมพลขับไล่รัฐบาลต้นปี 63’  10 มกราคม 2020   เข้าถึงข้อมูลออนไลน์ได้ที่ https://www.bbc.com/thai/thailand-50795163  คัดลอกเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม