จับตาสถานการณ์ร้อน เหมืองแร่ ปี 63

3548 11 Feb 2020

( ขอบคุณภาพจาก  ประชาชาติธุรกิจ ออนไลน์  : https://www.prachachat.net/economy/news-393783

 

หลังจากที่ This Land No Mine ได้นำเสนอประเด็นร้อนในปี 2562 ไปแล้ว เราก็ได้มีโอกาสที่จะรวบรวมข้อมูลในพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมาย  หรือประเด็นที่เกี่ยวข้องในระดับนโยบาย เราได้นำข้อมูลเหล่านี้คิดวิเคราะห์ร่วมกัน จนกลายมาเป็นข้อมูลนี้ ที่จะแสดงให้เห็นถึงการคาดการณ์ ว่าสถานการณ์เหมืองแร่ของประเทศไทยในมี 2563 นี้ จะยังคงร้อนแรงดังเช่นปีที่ผ่านมาหรือไม่ และจะมีสถานการณ์อะไรที่น่าสนใจบ้างในปีนี้ มาร่วมจับตาสถานการณ์เหมืองแร่ไปพร้อมๆ กับพวกเรา This Land No Mine กันเลย

 

จับตาสถานการณ์ร้อน ปี 63

          1. ฟื้นคืนชีพเหมืองทองอัครา 

                   ภายหลังที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้มาตรา 44 สั่งระงับกระบวนการผลิต การต่อใบอนุญาตประกอบโลหกรรมแร่ทองคำ การสำรวจ การต่ออายุประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการทำเหมืองแร่ทองคำชาตรี โดยมีบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด จำกัด ประเทศออสเตรเลีย เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และถือประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำ ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จ.พิจิตร จ.พิษณุโลก และ จ.เพชรบูรณ์ โดยมีคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการทำเหมืองทองคำ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นมา ซึ่งทำให้บริษัท คิงส์เกตฯ ได้ใช้สิทธิ์ทาฟตา (TAFTA : ข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย) นำข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการโลกตัดสิน พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลไทยชดเชยค่าเสียหายให้บริษัทเป็นจำนวนเงินประมาณ 750 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 30,000 ล้านบาท เนื่องจากการที่มีคำสั่งให้เหมืองแร่ทองคำชาตรียุติการประกอบกิจการในปี 2559 มีการละเมิดข้อตกลงทาฟตา โดยกำหนดการพิจารณาคดีตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการกับราชอาณาจักรไทย ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย จะมีขึ้นในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ประเทศสิงคโปร์ นี้ ซึ่งต้องจับตามองเป็นพิเศษต่อกระบวนการพิจารณาในครั้งนี้ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร

 

2. รัฐบาลประยุทธ์ปลุกผีโปแตช รุกพื้นที่ทั่วอีสาน

                   ภายหลังจากการประกาศใช้ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ. 2560 - 2564 ซึ่งได้มีการกำหนดให้แหล่งแร่โปแตชและเกลือหินในภาคอีสาน เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง ได้มีความพยายามผลัดดันโครงการทำเหมืองแร่โปแตชของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยการเปิดทางให้บริษัทเอกชนเข้าสำรวจแร่โปแตชทั่วภาคอีสาน ซึ่งปัจจุบันได้มีบริษัทเอกชนที่ได้รับใบอนุญาตอาชญาบัตรเพื่อสำรวจแร่โปแตชไปแล้วกว่า 246,010 ไร่ ได้ประทานบัตรไปแล้ว 2 บริษัท คือ บริษัท ไทยคาลิ จำกัด ในพื้นที่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา เนื้อที่ 9,005 ไร่ และบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) ในพื้นที่ อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ เนื้อที่ 9,707 ไร่ รวมทั้งสิ้นกว่า 18,712 ไร่

และเมื่อเข้าสู่ปี 2563 สถานการณ์ของการขออนุมัติ/อนุญาตการสำรวจและทำเหมืองแร่โปแตชในแต่ละพื้นที่ก็เป็นที่น่าจับตามองและเริ่มร้อนแรงมากขึ้น เมื่อ “กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี” ได้เข้ายื่นหนังสือคัดค้านการประชุมปรึกษาหารือเบื้องต้นต่อผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี หลังจากหน่วยงานราชการในจังหวัดมีการจัดประชุม เพื่อดำเนินกระบวนการตามคำขอประทานบัตรของบริษัท เอเชีย แปซิฟิคโปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นการปลุกผีเหมืองแร่โปแตชอุดรฯ กลับมาขึ้นอีกครั้งหลังจากที่ชาวบ้านในพื้นที่คัดค้านการสำรวจและทำเหมืองแร่โปแตชมากว่า 20 ปี 

          ไม่เพียงเท่านั้น ในจังหวัดนครราชสีมาเองก็มีความเคลื่อนไหวเรื่องการขอประทานบัตรเหมืองแร่โปแตชเช่นกัน หลังจากมีการสำรวจลับๆ แบบไม่บอกชาวบ้าน ของ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล ปิโตรเลียม กรุ๊ป จํากัด ที่ได้รับใบอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โปแตชใน จ.นครราชสีมา จำนวน 13 แปลง กว่า 130,000 ไร่ และกำลังจะเข้าสู่กระบวนการจัดประชุมปรึกษาเบื้องต้นกับผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งมีการขอประทานบัตรมากถึง 4 แปลง เป็นเนื้อที่กว่า 35,000 ไร่ และเริ่มมีกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่รวมตัวเพื่อคัดค้านเหมืองโปแตชกันบ้างแล้ว โดยเฉพาะ “กลุ่มรักษ์ลำคอหงษ์” ที่มีการยื่นหนังสือคัดค้าน และแถลงการณ์ไม่เอาเหมืองแร่ ในวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา

             และอีกหนึ่งสถานการณ์สำคัญคือ การขออาชญาบัตรสำรวจแร่โปแตช รอบที่ 2 ของ บริษัท ไชน่า หมิงต๋า คอร์เปอร์เรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด หลังจากอาชญาบัตรสำรวจแร่โปแตชของบริษัทได้หมดอายุลงในวันที่ 11 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา และกำลังดำเนินการยื่นคำขออาชญาบัตรสำรวจแร่โปแตชในแปลงเดิม ท่ามกลางเสียงคัดค้านของ “กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส” ที่ได้คัดค้านการสำรวจและการทำเหมืองแร่โปแตชในพื้นที่ อ.วานรนิวาส จ.สกลนครมาอย่างต่อเนื่อง จนนำมาสู่การฟ้องดำเนินคดีเรียกค่าเสียหายกับชาวบ้าน 9 คน เป็นจำนวนเงิน 3,600,000 บาท 

          การเคลื่อนไหวอย่างพร้อมเพรียงกันของบริษัทต่างๆ ที่ทำเหมืองโปแตชรอบนี้ ถือเป็นการส่งสัญญาณอย่างชัดเจนแล้วว่าเหมืองแร่โปแตชกำลังจะกลับมาทั่วภาคอีสาน!!

 

3. จับตา ปิดเหมืองหิน ตำบลดงมะไฟ อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู

ดูเหมือนว่าสถานการณ์จะร้อนระอุตั้งแต่ต้นปี หลังจากช่วงปลายปีที่ผ่านมา (วันที่ 7-12 ธันวาคม 2562) กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน ได้จัดกิจกรรมเดิน-ปิด-เหมือง จากภูผาฮวกถึงศาลากลางจังหวัดหนองบัวลำภู รวมระยะทางกว่า 80 กิโลเมตร เพื่อบอกเล่าเรื่องราวการต่อสู้ และปัญหาการทำเหมืองและโรงโม่หิน พร้อมทั้งเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐยุติการต่อใบอนุญาตให้บริษัทเอกชน เข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อทำเหมืองแร่ บนเนื้อกว่า 175 ไร่ และโรงโม่หินอีก 50 ไร่

          ทั้งนี้ ใบอนุญาตให้เข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเก่ากลอยและป่านากลาง และอายุประทานบัตรทำเหมืองแร่ ของบริษัท ธ.ศิลาสิทธิ จำกัด กำลังจะหมดอายุลงในเดือนกันยายน 2563 ซึ่งตาม พ.ร.บ.แร่ ปี พ.ศ.2560 กำหนดให้ผู้ถือประทานบัตรต้องยื่นขอต่อใบอนุญาตก่อน ไม่น้อยกว่า 180 วัน นั่นก็คือก่อนสิ้นเดือนมีนาคม 2563 อย่างไรก็ดี ตามขั้นตอนจะต้องมีการประชาคมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ และได้รับความเห็นชอบจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อบต.ดงมะไฟ ในการอนุญาตให้เข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อประกอบการต่ออายุประทานบัตรด้วย

ที่ผ่านมาบริษัทได้รับการอนุญาตมาแล้ว 2 ครั้งๆ ละ 10 ปี หากครั้งนี้หน่วยงานรัฐ อนุมัติ อนุญาตอีกเป็นครั้งที่ 3 จะส่งผลให้บริษัทสามารถทำเหมืองต่อไปได้จนถึงปี 2573 ท่ามกลางเสียงการคัดค้านต่อต้านของชาวบ้านในพื้นที่ ดังนั้นจึงเป็นที่น่าจับตาว่าปัญหาเหมืองหินดงมะไฟ มหากาพย์การต่อสู้ที่ยาวนานมากว่า 25 ปี จะปิดฉากลงในปีนี้ หรือจะเปิดม่านดำเนินเรื่องในภาคต่อไปอีก 10 ปี

 

4.จับตา! ขบวนประชาชนจะเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ยกเลิกยุทธศาสตร์และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ. 2560 – 2564 ที่ออกตามความกฎหมายแร่ฉบับใหม่ (พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560) มีเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ตามมาตรา 19 ว่าการอนุญาตให้ทำเหมืองให้พิจารณาอนุญาตได้เฉพาะในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็น ‘เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง’ เท่านั้น  และตามมาตรา 17 วรรคสี่ ว่าพื้นที่ที่จะกำหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองได้ต้องไม่ใช่พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ  เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า  เขตโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ  เขตพื้นที่ที่มีกฎหมายห้ามการเข้าใช้ประโยชน์โดยเด็ดขาด  พื้นที่เขตปลอดภัยและความมั่นคงแห่งชาติ  และพื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม 

แต่ยุทธศาสตร์และแผนแม่บทฯดังกล่าวซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 กลับระบุให้พื้นที่เหล่านี้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองได้โดยไม่สนใจว่าพื้นที่เหล่านี้จะทับซ้อนกับพื้นที่ตามมาตรา 17 วรรคสี่หรือไม่ อย่างไร  ได้แก่

          (1) พื้นที่ตามประทานบัตร คำขอต่ออายุประทานบัตร และคำขอประทานบัตร ที่ได้ออกให้หรือได้ยื่นไว้ตามกฎหมายแร่ฉบับเก่า (พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510) ก่อนวันที่กฎหมายแร่ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้

          (2) พื้นที่ตามอาชญาบัตรและคำขออาชญาบัตรที่ได้ออกให้หรือได้ยื่นไว้ตามกฎหมายแร่ฉบับเก่า  ก่อนวันที่กฎหมายแร่ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้  เฉพาะพื้นที่ที่ผลการสำรวจพิสูจน์ได้ว่าเป็นแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์และมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง

          (3) พื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรมเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง ตามมติคณะรัฐมนตรี ประกาศ กระทรวงอุตสาหกรรม และประกาศกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ที่ประกาศก่อนกฎหมายแร่ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้  และที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกำหนดแหล่งหินอุตสาหกรรม (อุตสาหกรรมเพื่อการก่อสร้าง) ของกระทรวงอุตสาหกรรมแล้ว  แต่ไม่สามารถประกาศได้ทันก่อนวันที่กฎหมายแร่ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้

          (4) พื้นที่ประกาศกำหนดพื้นที่เป็นเขตสำหรับ ดำเนินการสำรวจ การทดลอง การศึกษาหรือการวิจัย เกี่ยวกับแร่ที่ออกตามกฎหมายแร่ฉบับเก่าที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่กฎหมายแร่ฉบับใหม่มีผลใช้บังคับ  เฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีแร่โพแทชและเกลือหินเป็นชนิดแร่เป้าหมายของการประกาศที่มีผลสำรวจพิสูจน์ได้ว่าเป็นแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์และมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง

          (5) พื้นที่ที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีการทำเหมืองประเภทที่ 1 ตามมาตรา 53 แห่งกฎหมายแร่ฉบับใหม่ หรือกรณ์การทำเหมืองหินอุตสาหกรรมเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง หรือกรณีการทำเหมืองประเภทอื่นตามที่คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติกำหนด

          ซึ่งการกำหนดให้พื้นที่ตามข้อ (1) – (5) เป็น ‘เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง’ ในวาระเริ่มแรกนั้น  น่าจะเป็นการจัดทำยุทธศาสตร์และแผนแม่บทฯที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแร่ฉบับใหม่  หรือเป็นยุทธศาสตร์และแผนแม่บทฯ ที่มีเนื้อหาเกินไปกว่าบทบัญญัติในกฎหมายแร่ฉบับใหม่  เพราะมีเนื้อหาไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ปรากฎตรงที่หลายบริเวณของพื้นที่ตามข้อ (1) – (5) เป็นพื้นที่ที่ทับซ้อนกับพื้นที่อ่อนไหวและหวงห้ามที่ห้ามทำเหมืองแร่ตามมาตรา 17 วรรคสี่

          หรือเป็นการจัดทำยุทธศาสตร์และแผนแม่บทฯที่มีเจตนาชัดเจนว่าต้องการเปิดทางให้พื้นที่ตามข้อ (1) – (5) เป็น ‘เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง’ ในวาระเริ่มแรกได้โดยละเว้นหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 16 วรรคสอง  มาตรา 17 วรรคแรกและวรรคสี่  มาตรา 19 วรรคแรก  มาตรา 187  มาตรา 188  และมาตรา 189 ของกฎหมายแร่ฉบับใหม่

 

ซึ่งคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.)  กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.)  และสภาการเหมืองแร่ได้ปกปิดและบิดเบือนข้อมูลมาตลอด  และไม่ต้องการให้ถูกรื้อใหม่เพื่อให้เข้าหลักเกณฑ์ตามกฎหมายแร่ฉบับใหม่  เพราะเกรงว่าจะถูกงดเว้นการทำเหมืองในหลายบริเวณของพื้นที่เหล่านั้น



 

5.เครือข่ายประชาชนคัดค้านการทำเหมืองหินทั่วทุกภูมิภาคจะเคลื่อนไหวให้ยกเลิกประกาศแหล่งหินอุตสาหกรรม

          ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ. 2560 – 2564 ตามกฎหมายแร่ฉบับใหม่ (พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560) ซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 ระบุให้พื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรมเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง  ตามมติ ครม.  ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม  และประกาศกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่  ที่ประกาศก่อนกฎหมายแร่ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้  และที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกำหนดแหล่งหินอุตสาหกรรม (อุตสาหกรรมเพื่อการก่อสร้าง) ของกระทรวงอุตสาหกรรมแล้ว  แต่ไม่สามารถประกาศได้ทันก่อนวันที่กฎหมายแร่ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้  เป็น ‘เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง’ ได้

นั่นแสดงว่ายุทธศาสตร์และแผนแม่บทฯดังกล่าวเป็นเอกสารที่ขัดต่อกฎหมายแร่ฉบับใหม่  เพราะสิ่งที่ควรทำคือนำประกาศแหล่งหินอุตสาหกรรมเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างที่ประกาศครอบคลุมเกือบทุกจังหวัดในทุกภูมิภาคของประเทศไทยก่อนวันที่กฎหมายแร่ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้  ซึ่งมีจำนวนรวมกัน 325 แหล่งหิน  รวมเป็นพื้นที่ 143,713 ไร่  มีปริมาณสำรองรวมกันถึง 8,127 ล้านเมตริกตัน  มาชำระล้างใหม่ด้วยการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกฎหมายแร่ฉบับใหม่  ว่าภูเขาลูกใดหรือแหล่งหินใดบ้างเป็นพื้นที่ตามมาตรา 17 วรรคสี่ ที่ไม่ควรถูกประกาศเป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง 

ดังเช่นภูเขาลูกโดดที่มีความสวยสดงดงามในหลายพื้นที่ที่ถูกระบุไว้ในประกาศแหล่งหินอุตสาหกรรมถูกพบว่ามีแหล่งโบราณคดีอายุเก่าแก่  และพบว่าเป็นแหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึมสำคัญที่มีน้ำไหลซึมซับเล็ดลอดขึ้นมาจากใต้ดินเกือบทั้งปี  ซึ่งประชาชนในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์เพื่ออุปโภคและบริโภค  ตามมาตรา 17 วรรคสี่  ควรถูกกันออกจากการเป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองตามกฎหมายแร่ฉบับใหม่โดยทันที

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม