“Diversity Workshop ปี 3” เมล็ดพันธุ์แห่งความหวังในดินแดนแห่งความหลากหลาย

1807 23 Jul 2019

เนาวรัตน์ เสือสอาด

ผู้ประสานงานฝ่ายสื่อสารองค์กร

 

ปัญหา “ผู้ลี้ภัย” ถือเป็นประเด็นยอดฮิตติดชาร์ตดราม่าประจำโลกโซเชียล ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย ที่มีการถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนทุกครั้งที่ประเด็นนี้เกิดขึ้น ซึ่งวาทกรรมสุดคลาสสิกที่มักจะมาพร้อมกับดราม่า ก็คือการมองว่าผู้ลี้ภัยเป็นแรงงานผิดกฎหมาย บ้างก็ว่าเป็นอาชญากรที่หนีคดีมาจากประเทศต้นทาง ผู้ลี้ภัยหลายกลุ่มถูกตีตราว่าเป็นชนชาติที่ขี้เกียจ หรือเข้ามาแย่งชิงทรัพยากรในประเทศไทย รวมทั้งวาทกรรมที่ว่า “ให้เอาผู้ลี้ภัยไปเลี้ยงที่บ้าน” ซึ่งตอกย้ำภาพความเป็น “ภาระ” ของผู้ลี้ภัยยิ่งกว่าเดิม

 

แต่หากมองลึกลงไปกว่านั้น วาทกรรมต่างๆ ที่ออกมาจากความคิดของคนไทยบางส่วน ก็สะท้อนให้เห็นถึงการมองผู้ที่ไม่ใช่คนไทยว่าเป็น “คนอื่น” ซึ่งทำให้เราหลงลืมที่จะทำความ “เข้าใจ” คนเหล่านี้ในฐานะมนุษย์ที่ไม่ต่างจากเรา และจากความไม่เข้าใจก็อาจจะนำไปสู่การทำร้ายเพื่อนมนุษย์ด้วยกันโดยที่ไม่รู้ตัว

Diversity Workshop”

เพราะความเข้าใจเป็นสิ่งที่จำเป็น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย จึงริเริ่มโครงการ Diversity Workshop” เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนทั้งชาวไทยและผู้ลี้ภัยได้ทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างกัน โดยหวังว่าคนรุ่นใหม่จะเป็นแรงผลักดันเล็กๆ ที่สร้างความเข้าใจให้แก่คนในสังคมในที่สุด

 

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย เล่าว่า โครงการ Diversity Workshop จัดขึ้นครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ภายใต้แนวคิดเรื่องการสร้างความรู้ความเข้าใจระหว่างเยาวชนไทยกับผู้ลี้ภัยหลากหลายเชื้อชาติ โดยจัดให้เยาวชนทั้งสองกลุ่มได้มาใช้ชีวิตร่วมกัน ขณะเดียวกัน ผู้จัดกิจกรรมและกระบวนกรเอง ก็มีทั้งคนไทยและผู้ลี้ภัยด้วย และสิ่งที่น่าสนใจก็คือ จำนวนผู้สมัครเข้าร่วมกิจกรรมนั้นก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ

 

“ปีแรกคนสมัครไม่เยอะเลย แต่ปีนี้เยอะเป็นหลักร้อย บางคนเข้ามาร่วมกิจกรรมตอนปีที่ 1 ปีต่อมาก็มาเป็นกระบวนกร เป็นเทรนเนอร์ ก็จะพัฒนาไปเรื่อยๆ อย่างปีนี้ก็จะพัฒนาให้มีทักษะในการทำงานรณรงค์เพื่อให้คนเห็นความสำคัญของสิทธิผู้ลี้ภัย เราพยายามเลือกให้หลากหลายจริงๆ ไม่ใช่แค่เชื้อชาติ แต่ยังหลากหลายทั้งเพศ ความคิด และชุมชนที่มา เราก็อยากให้เห็นว่าคนเรา ถ้าถอดหมวกเชื้อชาติ วัฒนธรรม หรือหมวกผู้ลี้ภัยออก เราก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน แค่อยู่ในวัฒนธรรมที่หลากหลาย” คุณปิยนุชกล่าว

 

นอกจากการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายแล้ว สิ่งหนึ่งที่แอมเนสตี้มุ่งเน้นในกิจกรรมนี้ คือการจุดประกายให้เยาวชนนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอด ทำกิจกรรมเพื่อผู้ลี้ภัยในวิถีของคนรุ่นใหม่ ซึ่งที่ผ่านมา กิจกรรมเวิร์กช็อปนี้ก็มีการต่อยอดไปในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเชิญผู้ลี้ภัยไปพูดที่โรงเรียนไทย การเข้าเยี่ยมผู้ลี้ภัยที่ถูกกักตัวในห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หรือการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย

 

“ความเปลี่ยนแปลงที่ผู้ลี้ภัยอยากให้เกิดขึ้นก็คือ ไม่ต้องการให้คนเหมารวม (stereotype) ไม่ต้องการให้คนอื่นมองว่าเขาสกปรก ไม่มีค่า มาสร้างปัญหา อีกกลุ่มหนึ่งบอกว่าแค่อยากให้เห็นความหลากหลายก็พอ อีกกลุ่มหนึ่งก็อยากให้เห็นถึงทักษะที่เขามี สิ่งที่เขาสามารถให้ได้ เพราะที่จริงหลายคนก็เลยเป็นหมอ เป็นวิศวะ อยู่ที่ประเทศเขา เขามาที่นี่ก็ไม่ได้อยากนั่งเฉยๆ เพียงแต่ว่าด้วยการที่เขาไม่มีสถานะ มันทำไม่ได้จริงๆ หรือว่าถูกลืม ต้องคอยหลบซ่อนตัว โดนจับ อีกกลุ่มหนึ่งไม่อยากเห็นคนต้องมาถูกกักตัวหรือโดนส่งกลับ ให้ได้รับอันตราย ซึ่งอันนี้ก็เป็นมุมมองที่น่าสนใจของเด็กกลุ่มนี้” ปิยนุชกล่าว 

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม