การบิดเบือนอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติโดยอนุบัญญัติ

2031 21 Jul 2019

 

 

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์

๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๒

 

 

พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๖๐ หรือ ‘กฎหมายแร่ฉบับใหม่’ ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการว่าด้วยการบริหารจัดการแร่ ๓ ชุด ๓ ระดับ ได้แก่ (๑) คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.)  (๒) คณะกรรมการแร่  และ (๓) คณะกรรมการแร่จังหวัด  โดย คนร. เป็นคณะกรรมการชั้นบนสุดมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกฯซึ่งนายกฯมอบหมายเป็นประธานกรรมการ  กรรมการตำแหน่งอื่นมาจากรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงและอธิบดีหลายกระทรวง  โดยเฉพาะกรรมการจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกรมทรัพยากรธรณีที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อถ่วงดุลอำนาจการอนุมัติ/อนุญาตสัมปทานในการสำรวจและทำเหมืองแร่ที่เคยเป็นของกระทรวงอุตสาหกรรมแต่ผู้เดียวตลอดมาตามกฎหมายแร่ฉบับเก่า (พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ที่ถูกยกเลิกใช้บังคับไปแล้ว) 

 

อำนาจหน้าที่ที่สำคัญของ คนร. ก็คือการเสนอยุทธศาสตร์ นโยบาย และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.),  เสนอแนะแนวทางหรือมาตรการเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ นโยบายและแผนแม่บทฯอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ,  กำกับดูแล ตรวจสอบให้หน่วยงานรัฐดำเนินการให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ นโยบายและแผนแม่บทฯ  รวมทั้งในมาตรา ๑๙ ได้กำหนดให้ คนร. มีอำนาจประกาศกำหนดให้การอนุญาตและการกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ในการออกประทานบัตรให้ทำเหมืองในพื้นที่และชนิดแร่ใดต้องได้รับความเห็นชอบจาก คนร. ก่อนการอนุญาตเพื่อพิจารณาความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ความเหมาะสมของเทคโนโลยีที่ใช้ในการทำเหมือง มาตรการในการป้องกันผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน รวมทั้งผลกระทบสะสมต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน

 

ส่วนคณะกรรมการแร่เป็นคณะกรรมการระดับปลัดกระทรวงลงมา  มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานกรรมการ  มีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญในการให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รทส.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (รวอ.) ในการประกาศให้มีการประมูลเขตแหล่งแร่,  ให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีฯในการออกกฎกระทรวงหรือประกาศตามกฎหมายแร่ฉบับใหม่,  ให้ความเห็นชอบในการอนุญาตหรือไม่อนุญาต ต่ออายุ โอน เพิกถอนและกำหนดเงื่อนไขใด ๆ เกี่ยวกับประทานบัตรสำหรับการทำเหมืองประเภทที่ ๒ และ ๓[1]

 

และคณะกรรมการแร่จังหวัดมีผู้ว่าราชการจังหวัด (ผวจ.) เป็นประธานกรรมการ  มีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญในการให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับการอนุญาต/ไม่อนุญาต ต่ออายุ โอน เพิกถอน หรือกำหนดเงื่อนไขใด ๆ เกี่ยวกับประทานบัตรสำหรับการทำเหมืองประเภทที่ ๑, พิจารณาข้อร้องเรียนหรือผลกระทบจากการทำเหมืองประเภทที่ ๑, ให้คำปรึกษา คำแนะนำและความเห็นแก่ ผวจ. ในการบริหารจัดการแร่ระดับจังหวัด

 

เมื่อพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๖๐ กำหนดบทบาท อำนาจและหน้าที่ให้ คนร. เข้ามาเกี่ยวข้องกับการพิจารณาเพื่ออนุญาตหรือไม่อนุญาตประทานบัตรแล้วก็ต้องไปออกอนุบัญญัติเป็น ‘ประกาศ คนร.’ ตามมาตรา ๑๙ ดังที่ได้กล่าวไป  แต่เมื่อสำรวจ ตรวจสอบและค้นหาดูทั้งหมด ณ เวลาปัจจุบันที่กำลังเขียนบทความชิ้นนี้อยู่ก็ไม่พบประกาศ คนร. ตามมาตรา ๑๙ แต่อย่างใด  พบเพียงประกาศกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เรื่องหลักเกณฑ์และแนวทางการประเมินความคุ้มค่าในทางเศรษฐกิจสำหรับการอนุญาตประทานบัตรฉบับที่ ๑  และ ๒ ที่ออกประกาศเมื่อปี ๒๕๖๑  และประกาศ กพร. เรื่องหลักเกณฑ์ในการพิจารณาความเหมาะสมของเทคโนโลยีที่ใช้ในการทำเหมืองที่ออกประกาศเมื่อปี ๒๕๖๑ เช่นเดียวกัน  ซึ่งเป็นประกาศที่อธิบดี กพร. สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้ลงนามในประกาศดังกล่าวด้วยตัวเอง  ซึ่งมีลักษณะจงใจบิดเบือนและตัดตอนอำนาจในการอนุมัติ/อนุญาตประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่ซึ่งเป็นบทบาท อำนาจและหน้าที่ร่วมกันของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกระทรวงอุตสาหกรรมในโครงสร้าง คนร. ที่ต้องการสร้างดุลยภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ใหม่ที่เคยเป็นของกระทรวงอุตสาหกรรมแต่เพียงผู้เดียวมาอย่างยาวนานอย่างเห็นได้ชัด 

 

ดูเหมือนว่าความจงใจบิดเบือนบทบาท อำนาจและหน้าที่ของ คนร. ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาเพื่ออนุญาตหรือไม่อนุญาตประทานบัตรไม่หยุดอยู่เพียงแค่นี้  รวอ. ยังได้ออกอนุบัญญัติเป็น ‘ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดขั้นตอนและระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาตตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๖๐ พ.ศ. ๒๕๖๑’ เพื่อแจกแจงแผนผังขั้นตอนและระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาตประทานบัตรว่าตั้งแต่เริ่มต้นยื่นคำขอไปจนถึงอธิบดี กพร. ออกประทานบัตรให้ในขั้นตอนสุดท้ายมีกระบวนการอย่างไรและมีหน่วยงานใดเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง  ซึ่งในประกาศฯฉบับนี้เองที่กำหนดให้ ‘คณะกรรมการแร่’ เข้ามามีบทบาท อำนาจและหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับการอนุญาตประทานบัตรฝ่ายเดียวโดยไม่มี ‘คนร.’ ร่วมด้วย  ซึ่งผิดไปจากเจตนารมณ์ของกฎหมายแร่ฉบับใหม่ที่ต้องการให้ทั้งคณะกรรมการแร่และ คนร. เข้ามามีบทบาท อำนาจและหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับการอนุญาตประทานบัตรทั้งคู่  ไม่ใช่กรรมการชุดใดชุดหนึ่งเท่านั้น

 

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม