จดหมายเปิดผนึก ขอให้พิจารณาปล่อยตัวนายฮาคีม อัล-อราบี และไม่ส่งกลับไปเผชิญอันตรายยังประเทศบาห์เรน

1439 13 Feb 2019

( ขอบคุณภาพ จาก https://www.bbc.com/thai/thailand-47194984 )

 

จดหมายเปิดผนึก

ขอให้พิจารณาปล่อยตัวนายฮาคีม อัล-อราบี และไม่ส่งกลับไปเผชิญอันตรายยังประเทศบาห์เรน

 

 

สืบเนื่องจากทางการไทยได้จับกุมตัวนายฮาคีม อาลี โมฮัมหมัด อาลี อัล อาไรบี (Mr. Hakeem Ali Mohamed Ali Alaraibi) อดีตนักฟุตบอลทีมชาติบาห์เรนไว้ตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2561 หลังจากที่นายฮาคีมและภรรยาได้เดินทางมาประเทศไทยเพื่อท่องเที่ยว เจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นการจับกุมตามหมายแดง (Red Notice) ของตำรวจสากล (INTERPOL) ซึ่งเป็นการออกตามคำขอของทางการบาห์เรน ต่อมาหมายจับดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไป เนื่องจากขัดกับนโยบายของตำรวจสากล ที่ห้ามการออกหมายจับของรัฐบาลต่อผู้ลี้ภัยที่หลบหนีการประหัตประหารมาจากประเทศที่ขอออกหมายจับ

หลังจากการถูกจับกุมนายฮาคีมถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตามคำสั่งของศาลอาญา มาตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2561 จนกระทั่งปัจจุบัน เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา ศาลอาญาเบิกตัวเขามาสอบถามความยินยอมส่งตัวกลับประเทศบาห์เรนเป็นผู้ร้ายข้ามแดนตามคำร้องของพนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุดที่ได้ร้องขอให้ศาลส่งตัวเขากลับประเทศบาห์เรนตามคำขอของประเทศบาห์เรน ซึ่งนายฮาคีมได้คัดค้านคำร้องดังกล่าว โดยทีมทนายความของเขาได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำคัดค้านออกไป 60 วัน  ในการเบิกตัวเขามาศาล ปรากฏภาพตามสื่อมวลชนว่าเขาได้ถูกพันธนาการด้วยการใส่เครื่องพันธนาการที่เท้า ซึ่งเข้าข่ายเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งที่เขาไม่ได้เป็นอาชญากรร้ายแรง   เป็นเพียงผู้ลี้ภัยและไม่ได้กระทำความผิดใดๆ ในประเทศไทย

องค์กรที่มีรายชื่อแนบท้ายจดหมายเปิดผนึกนี้ เห็นว่า

            1. ทางการไทยควรพิจารณาไม่ส่งตัวนายฮาคีมกลับไปยังประเทศบาห์เรน มีเหตุผลทางกฎหมาย  และหลักการสิทธิมนุษยชนอย่างน้อย 2 ประการ คือ

1.1 ตามหลักทั่วไปในการส่งผู้ร้ายข้ามแดน พระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551 ของไทย กำหนดไว้ชัดเจนว่า การส่งผู้ร้ายข้ามแดนต้องมิใช่ความผิดที่มีลักษณะทางการเมือง เมื่อปรากฏว่ากรณีนี้ นายฮาคีมถูกดำเนินคดีในประเทศบาห์เรนท์อันเป็นผลมาจากข้อกล่าวหาที่เกี่ยวพันธ์กับการเคลื่อนไหวคัดค้าน หรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลบาห์เรน แม้เขาจะถูกกล่าวหาในความผิดฐานอื่นด้วย แต่ข้อหาดังกล่าวก็เกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกับความผิดที่มีลักษณะทางการเมือง ดังนั้น ย่อมไม่อยู่ในข่ายที่จะส่งตัวเขาในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนตามคำขอของรัฐบาลบาห์เรนได้

1.2 ประเทศไทยผูกพันตามหลักการห้ามผลักดันกลับ (Non-Refoulement) ซึ่งเป็นหลักการสำคัญทั้งในกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศที่เรียกร้องให้ไม่ส่งกลับผู้แสวงหาที่ลี้ภัยและต้องไม่ขับไล่หรือผลักดันกลับออกไปหรือส่งบุคคลไปยังอีกรัฐหนึ่งเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะตกอยู่ภายใต้อันตราย มีความเสี่ยงอย่างแท้จริงว่าจะถูกประหัตประหาร ถูกทรมาน หรือได้รับการปฏิบัติที่โหดร้าย หรือถูกคุกคาม เอาชีวิต รวมทั้งอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคี ยังห้ามไม่ให้รัฐบาลส่งบุคคลกลับหรือส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังประเทศใดๆ กรณีมีเหตุอันน่าเชื่อถือว่าบุคคลนั้นจะได้รับอันตรายจากการทรมาน  ดังนั้น เมื่อปรากฏว่านายฮาคีมเคยถูกซ้อมทรมานและถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมในประเทศบาห์เรนมาแล้ว จึงมีเหตุอันควรเชื่อหรือความเสี่ยงที่หากเขาถูกส่งตัวกลับไป อาจจะถูกซ้อมทรมานหรือปฏิบัติที่โหดร้ายเช่นเดิมได้

         2. การให้ความคุ้มครองตามหลักประกันการพิจารณาคดีอย่างเป็นแก่นายฮาคีม ในระหว่างรอการนัดพิจารณาคำร้องขอส่งตัวนายฮาคีมตามพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่จะมีขึ้นในเดือนเมษายน 2562 นี้ อย่างน้อยกระบวนการยุติธรรมไทยก็ควรเคารพและคุ้มครองสิทธิของเขาในการที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะสิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว และสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และไม่ปฏิบัติต่อเขาเสมือนเป็นผู้กระทำความผิด อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญา ซึ่งถูกรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 9 และ 14 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 29

 

องค์กรที่มารายชื่อแนบท้ายจดหมายเปิดผนึกนี้ จึงมีข้อเรียกร้องต่อกรณีดังกล่าว ดังต่อไปนี้

 

1.เพื่อลดผลกระทบที่อาจมีเพิ่มขึ้นแก่นายฮาคีมและเป็นการคุ้มครองสิทธิที่จะได้รับการสันนิฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ของเขาควรมีการพิจารณาเรื่องการปล่อยชั่วคราวของเขาในระหว่างรอการพิจารณา หรือควบคุมตัวในรูปแบบอื่นที่มีผลกระทบน้อยกว่า

2.ปัจจุบันกรณีของนายฮาคีมจะอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลในคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดนองค์กรในกระบวนการยุติธรรมจึงมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะพนักงานอัยการซึ่งมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล อาจจะพิจารณาใช้อำนาจตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 ถอนฟ้องคดีเพราะจะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ  และองค์กรตุลาการ ควรพิจารณาคดีโดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน และหลักการไม่ส่งกลับ เพราะกรณีนี้มีหลักฐานที่ระบุได้ว่าเป็นการขอส่งตัวกลับในความผิดที่มีลักษณะทางการเมืองและเสี่ยงที่ผู้ถูกส่งตัวกลับจะเผชิญกับอันตรายดังที่เคยได้รับ

3.รัฐบาลไทยต้องไม่ดำเนินการหรือสนับสนุนการส่งกลับนายฮาคีมไปเผชิญอันตรายยังประเทศผู้ร้องขอ และปล่อยให้เดินทางกลับไปยังประเทศออสเตรเลีย

ด้วยความเคารพในสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษยชน

ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2562

--

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม