ความคิดแบบวิโชคศักดิ์ : ความคิดที่ได้จากการเรียนรู้อยู่กับชุมชน

3947 24 Jan 2019

วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี  หรือ พี่แท็ป จากสมาคมรักษ์ทะเลไทย เป็นอีกหนึ่งที่เติบโตมากับงานเอ็นจีโอ งานเคลื่อนไหวเคียงข้างพี่น้องชาวบ้าน เพื่อปกป้องทะเล ปกป้องวิถีชาวประมงพื้นบ้านมายาวนาน อะไรและทำไม ?  กับประสบการณ์ของคนวัยกลางคน ทุกมุมมองล้วนแต่น่าสนใจ วันนี้ ThaiNGO ได้รับบทสัมภาษณ์ เจาะลึกจากใจ ในแง่มุมชีวิต และประสบการณ์ จึงอยากนำเสนอ

"ผมอยู่กับชุมชนชาวประมงพื้นบ้านและในขณะเดียวกันก็อยู่กับชุมชนบ้านเกิดไปด้วย การเรียนรู้ประสบการณ์จึงค่อนไปทางสัมพันธ์กับมวลชนที่เป็น Mass หรือวิธีคิดคนทั่วไปในสังคม และก็ได้เรียนรู้ไปพร้อมกับบรรดาผู้นำที่ผ่านบทเรียนทางความคิด การทำงานไปพร้อมกันด้วย เอาเป็นว่า จะลองแชร์จากที่เคยเขียนไว้ เก่าๆ โดยอาจตัดบางส่วนออกไปที่ผมคิดว่า สุ่มเสี่ยงต่อการเข้าใจผิด ได้ง่ายออกไปก่อน 

 

(๑) งานสร้างตลาดทางเลือกเพื่อประมงพื้นบ้าน

ระยะหลัง...ผมมีโอกาสได้ทำงานด้านการจัดการผลผลิตสัตว์น้ำของประมงพื้นบ้านมากขึ้น ครุ่นคิดมากขึ้น อาจจะเพราะกลัวงานเศรษฐกิจชุมชนจะเจ๊งเหมือนที่ผ่านมาที่เจ๊งกันเยอะมาก ซึ่งเมื่อเจ๊งแล้ว พวกเราก็มักจะสรุป(เข้าข้างตัวเอง) ว่า...มันเป็นบทเรียน ๆ

 

แต่ผมมองต่างออกไป  ผมมองว่านั่นอาจเป็นบทเรียนของเราในฐานะ “นักปฏิบัติการทางสังคม” ก็จริง แต่สำหรับคนในชุมชน “มันคือชีวิตจริง” ที่ไม่อาจรับความล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่า

 

4 ปีมานี้ ผมได้ร่วมพัฒนางานการจัดการผลผลิตสัตว์น้ำประมงพื้นบ้าน ใช้วิธีคิดอันเดิมของ NGO เรานั่นแหละ คือส่งเสริมให้ เกิดตลาด “ทางเลือก” ขึ้น เอาให้ยากกว่านั้นคือ เราต้องการสร้างการ เปลี่ยนแปลงขึ้นในสังคม โดยผู้ผลิตก็เปลี่ยนพฤติกรรมการผลิต และผู้บริโภคเองก็เปลี่ยน พฤติกรรมการบริโภค (บอกตรงๆ แค่คิดมันก็ยาก ฉิบ.....) แต่ก็ได้ข้อสรุปว่า จะใช้เครื่องมือทาง “การตลาด” นี่แหละเป็นเครื่องมือ เป็นแรงจูงใจ สิ่งที่เราอยากเห็น “เกิดขึ้นได้จริง” 

   เราทำแยกเป็น ๒ ทาง

ทางแรกเราพัฒนาตัวมาตรฐานสินค้าสัตว์น้ำ(ทะเล) ขึ้น เราเรียกมันว่า “Blue Brand Standard” โดยมีสมาคมประมงพื้นบ้านระดับประเทศเป็นเจ้าของมาตรฐาน และให้การรับรอง แก่ สินค้า สัตว์น้ำธรรมชาติ ที่

๑) “ผลิตหรือจับ” โดยชาวประมงพื้นบ้านที่จับด้วยเครื่องมือประมงที่ดี เท่านั้น เพราะอะไรหรือ?? เรื่องนี้มีสองเหตุผลหลักๆ อย่างแรก เพื่อเป็นหลักประกันว่า เราช่วยสนับสนุน “การผลิต/การจับ” โดยชาวประมงพื้นบ้าน หรือ “เกษตรกรรายย่อย” จริงๆ ไม่ใช่ไปแอบเอาสัตว์น้ำเรือประมงพาณิชย์ มาสวมรอย ก็อย่างที่รู้ๆ สินค้าสัตว์น้ำทะเล ยิ่งสดยิ่งคุณภาพดี ยิ่งแพง ยิ่งบอกว่าจับโดยชาวบ้าน ตลาดยิ่งต้องการ เพราะ “เชื่อ” ว่าคุณภาพในการ “กินเป็นอาหาร” ดีกว่า แต่พอปลาเข้าตลาดจริง มันแยกไม่ออกว่า ตัวไหนเป็นของใครจับ

อย่างที่สองแม้ว่าจะเป็นประมงพื้นบ้าน แต่จะผ่านมาตรฐานนี้ “ต้องจับด้วยเครื่องมือ ประมงที่ดี” ด้วย อันนี้เพื่อลดแรงจูงใจไม่ให้ชาวประมงพื้นบ้านไปใช้ เครื่องมือทำทำลายลูกปลา เพื่อหวังปริมาณมากๆหาเงินมากๆ ...เราเชื่อว่า จับสินค้าสัตว์น้ำที่มีคุณภาพ ก็ทำเงินมากขึ้นได้

 

๒) ชาวประมงพื้นบ้านคนจับสัตว์น้ำ “ต้องเป็นคนที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมรักษาทรัพยากรด้วย”  ทำไมต้องร่วมรักษาทะเล จึงจะได้รับการรับรองล่ะ... ก็เพราะว่า มีชาวประมงพื้นบ้านอีกมาก เช่นกัน ที่แม้จับปลาด้วยเครื่องมือที่ดี แต่พอเวลาต้องช่วยกันเฝ้าระวัง ฟื้นฟูดูแลพื้นที่ กลับทำเป็น “เอาหูไปนาเอาตาไปไร่” เมื่อทะเลฟื้นตัวขึ้น คนที่ไม่ลงแรงรักษาดูแล ก็มีสิทธิจับเหมือนคนอื่นๆ แถมบ่อยครั้งจับได้มากกว่าคนอื่นๆ เพราะตัวเองมีเวลา มีแรงและมีทุนสะสมมากกว่า จะไปตัดสิทธิไม่ให้จับก็ไม่ถูกต้อง เราจึงเชื่อว่า “สร้างแรงจูงใจ” ทางการตลาดจะดีกว่า

 

๓) “ไม่ปนเปื้อนสารเคมีอันตราย” ต่อคนกิน เรื่องนี้ชัดเจนมาก เนื่องจากสินค้าสัตว์น้ำทะเล เป็นอะไรที่ เน่าเสียง่ายมาก ในตลาดปกติ เราซุ่มตรวจพบสารฟอร์มอลีน ปนเปื้อน บ่อยมากๆ สรุปเป็นว่า ถ้ามีการใช้สารเคมีอันตรายปะปนอยู่ในสัตว์น้ำ เราไม่ให้ผ่านมาตรฐานก็แล้วกัน เรื่องนี้เพื่อกระตุ้นเตือนผู้บริโภคไปด้วยว่า ถ้ารักสุขภาพตัวเองกรุณาเลือกซื้อ...ก็แล้วกัน

 

และ ๔) ในทุกขั้นตอนกระบวนการผลิตสินค้า จะต้องไม่ไปเอาเปรียบสังคม เอาเปรียบแรงงาน กันเอง หรือจะไปเอาเปรียบ “มนุษย์” คนอื่นๆก็ไม่ได้ ค่าแรงต้องเป็นธรรม เป็นที่พอใจของทุกฝ่าย

โดยแท้จริง อันที่จริงหลักการนี้มีโดยทั่วไปนั่นแหละ ทุกบริษัท ทุกธุรกิจ ไม่มีใครยอมรับ หรอกว่า “ฉันเอาเปรียบคนอื่น” มันจึงขึ้นกับความเชื่อถือของสินค้านั้นกับผู้ให้การรับรอง หมายความว่า เราให้การประกันกับคุณ เอง ว่างั้นเถอะ!!!

 

                ทางที่สอง คือ “หาลูกค้าใช้มาตรฐาน” พอเริ่มก่อร่างสร้างมาตรฐานแล้ว เราก็ไม่รู้จะไป รับรองให้ใคร เพราะเราเริ่มใหม่ๆ งั้นเราช่วยกันสร้างร้านขึ้นเลยดีกว่า เป็นที่มาการก่อตั้ง “ร้านคนจับปลา” ขึ้นที่ประจวบคีรีขันธ์รับอาสาหนูทดลองไม้แรก ปรากฏว่า เมื่อผ่านไปเข้าปีที่ 4 เออ มันพอไปได้ว่ะ สินค้าขายได้ ชาวประมงพื้นบ้านที่เป็นสมาชิกร้านก็มีรายได้มากขึ้น แรงงาน หมู่บ้านก็มีงานทำเสริมรายได้

ผมอยากจะบอก “ความลับ” อีกอย่างให้ฟัง ในกระบวนการสร้างความเชื่อมั่น พัฒนา “ร้านคนจับปลา” เอาแค่ที่สตูลที่ผมอาจมีบทบาทมากหน่อย มันทำให้ ผมคบหากับหลายองค์กร หลายหน่วยงาน โดยเฉพาะแหล่งอำนาจทั้งท้องถิ่นและระดับชาติ ทั้งโดยประชาธิปไตย และไม่เป็นประชาธิปไตย มากมายเลยครับ ผมอาจกลัวความล้มเหลวของกลุ่ม หรือเปล่าไม่ทราบ ผมทราบแค่ว่า อ่า...มันเป็นประโยชน์กับงานกับยุทธศาสตร์ที่ตั้งไว้และเป้าหมาย มากกว่าการตั้งการ์ด ไม่คบใคร 

 

ผมมักพูดในหลายโอกาส ว่าเชื่อว่า “งานของเรา” คือ สร้างแรงกระเพื่อม สร้างแรงกระทบไปสู่สังคม เมื่อแนวทางสินค้าคุณภาพแบบนี้ “มันขายได้” กระแสสังคมตอบรับแล้ว ต่อไปผู้เกี่ยวข้องในธุรกิจสัตว์น้ำ ไม่ว่า คุณจะเป็นแพ, คุณจะเป็นห้างร้าน, คุณจะเป็นบริษัท, คุณจะเป็นชาวประมงพื้นบ้านเอง, หรือ คุณจะเป็นเจ้าของธุรกิจประมง หากคุณเห็นว่า ตลาดแนวทางนี้มันไปได้ คุณทำเลย... เราไม่จำเป็นต้องรู้จักกัน ไม่จำเป็นต้องอยู่เป็นลูกข่ายกัน ไม่จำเป็นต้องแบรนด์เดียวกัน

 

                ในขณะที่เราพยายามสร้างร้านคนจับปลาร่วมกัน เราก็พบว่า มีเพื่อนอีกจำนวนหนึ่ง เขาก็กำลังสร้างตลาดสัตว์น้ำประมงพื้นบ้านเหมือนกัน  แน่นอนว่าราอาจไม่ได้เหมือนกันเป๊ะ ทีเดียว หรืออาจมีเป้าหมายต่างกันไป แต่ในจุดเริ่มว่า สร้างตลาดให้ชุมชนประมงพื้นบ้าน ผมก็แอบชื่นใจว่า เออว่ะ...กูก็คิดเหมือนคนอื่น คนอื่นก็คิดคล้ายกู....เออ กูคงคิดไม่ผิดน่า กับวิธีนี้  แต่ปัญหาทางความคิด ก็เกิดอาจเป็นผมเองที่ผิดที่เบี่ยงเบนไปจากสายพานการผลิตนักปฏิบัติการทางสังคม

 

ผมคิดว่า ผมแค่เป็นคนทำงาน NGO เล็กๆคนหนึ่ง กับพี่ๆเพื่อนๆ อีกไม่กี่คน เรา “ไม่มีปัญญา” ไปทำตลาด เปิดร้าน สร้างแบรนด์ ให้ชุมชนประมงพื้นบ้านทุกแห่งหรอก เอาแค่ 3-4 ที่แรกเริ่ม นี่ก็ ไมแกรนด์ ถามหาแล้ว ยังมีชุมชนประมงอีก “หลายพัน” หมู่บ้านในประเทศไทยเอง และทั่วโลกอีกเล่าถ้าความหมายและข้อกำหนดในมาตรฐานก็จะกระจายไปเองโดยอัตโนมัติ และใครๆก็ทำได้ ยิ่งทำกันมากยิ่งดี ถ้าท่านทำได้คล้ายๆกับ มาตรฐานนี้ ท่านจะเป็นใคร ท่านจะใช้ชื่อ ร้านท่านอย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่า ทะเลจะดีขึ้น  ชาวประมงพื้นบ้านจะมีคุณภาพ ชีวิตที่ดีขึ้น ไม่เอาเปรียบกันเอง ผมก็ตายอย่างพอจะ “ตอบคำถามตัวเอง” ได้ว่า เออ...กูก็เคยสนองความอยากจะเปลี่ยนโลกกับเขาได้บ้าง สักนิดก็ยังดี

 

ครานี้...เราเริ่มโดนวิจารณ์มากขึ้น ไม่ใช่จากไหนหรอก??? จากพวกเรากันเองที่ทำงานสังคม NGO นี่ล่ะ บ้างก็ว่า “ลอกเลียน” งาน, บ้างก็ว่า “สร้างนิสัยเห็นแก่เงินให้ชุมชน”, บ้างก็ว่าเป็น “ตัวต่อ” ให้บรรษัทขนาดใหญ่เข้ามาทำธุรกิจนี้ ต่อไปชาวประมงพื้นบ้านจะเป็น “ลูกทาส” บริษัทใหญ่ๆ

 

นี่แหละปัญหาทางความคิดของผม ปัญหาคือ ผมเริ่มคิดไม่เหมือนเพื่อน ผมคิดแค่ว่า ผมอายุสั้น ผมคงอยู่ได้ไม่ถึงร้อยปี และผมไม่อาจแบกรับภาระทางประวัติศาสตร์ของ NGO ที่ต้อง “ไม่ยอมรับ” บทบาทของบรรษัทขนาดใหญ่ในโลกธุรกิจ ผมคิดว่า เอ๊ะ...! มันใช่ที่ว่า นักปฏิบัติการทางสังคมจะต้องพร้อมล้ม บทบาทบรรษัทขนาดใหญ่ข้ามชาติ ในช่วงชีวิตผมหรือ...?

เห้ย...นี่ถ้า บริษัทขนาดใหญ่ มันบ้าจี้ ทำธุรกิจ มาตรฐานเดียวกับบลูแบรนด์ มันกลายเป็นบาปกรรมของผม หรือ??? ตายห่า....!!! ckgdf;[

 

ผมฟัง, อ่าน หลายท่านทั้งเพื่อนมิตรในวงการ อดีตเพื่อนนอกวงการคล้ายๆกับว่า จุดยืนเราต้องมั่นคง? ทำไม่ได้ ก็ต้องเชื่อมั่น..! ต้องไม่คบหานักธุรกิจเหล่านั้น และบางทีก็ลาม ไปถึง ต้องไม่คบหากับอำนาจอื่นๆ ที่ไม่ใช่อำนาจประชาชน? ผมเริ่มคิด หรือมันใช่ หรือว่าใช่ เป็นผมเองที่ “ผิด” ที่เบี่ยงเบนไปจากสายพานการผลิตนักปฏิบัติการทางสังคม

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม