ศตคุณ คนไว  กับโลกของคนคุ้มครองฯ

2794 08 Nov 2018

โลกปัจจุบันกำลังกลายเป็นโลกที่มนุษย์แยกแยะของจริงของเทียมของแท้ของดี ไม่ดี ไม่ได้เลย เพราะกระแสสื่อ ข้อมูลใหม่ๆ ซึ่งถูกค้นพบ ถูกหหยิบมาใช้ช่วงชิง ยึดครองระบบคิด ความรู้ การวิเคราะห์ของเราตลอดเวลา พูดให้ง่าย เราหนีไม่พ้นการจมในวังวนข้อมูลการบริโภคที่ทุนหรือผู้ผลิต ผู้ขาย กรอกหู ตา เราทุกวัน

นับว่าเป็นยุคสมัยที่ท้าทายคนทำงานด้าน คุ้มครองผู้บริโภคอย่างมาก นายศตคุณ คนไว ผู้ปฏิบัติงานสมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่หาได้น้อยมาก ที่สนใจทำงานพัฒนาด้านคุ้มครองผู้บริโภค ที่ซึ่งเชื่อว่างานหล้นมือและปัญหาล้นกำลัง


ThaiNGO  :   สถานการณ์คุ้มครองผู้บริโภค ในภาคอีสาน ร้อนแรงแค่ไหน ประเด็น อะไรหลักๆ ?
นายศตคุณ ผมเริ่มเข้ามาทำงานประเด็นงานคุ้มครองผู้บริโภคเมื่อปี ๒๕๕๖ และไปเป็นทหารเกณฑ์ช่วงปี ๒๕๕๗-๒๕๕๘ หลังจากนั้นก็กลับมาทำงานคุ้มครองผู้บริโภคต่อจนถึงปัจจุบัน (อยู่ระหว่างการเรียนรู้งาน)

            ประเด็นปัญหาของผู้บริโภคที่เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนขับเคลื่อนงานกันมาทั่วประเทศ จำแนกออกมาได้ ๗ ประเด็น แต่ประเด็นที่เกิดปัญหาอยู่บ่อยครั้งสำหรับผู้บริโภคคือ ๑.บริการสาธารณะ เรื่องอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ เช่น อุบัติเหตุรถทัวร์โดยสารสองชั้นโดยเฉพาะเส้น ๓๐๔ (เขาปักธงชัย) ที่จะเกิดเหตุอยู่ทุกปี  ๒. เรื่องการโฆษณาอาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่เกินจริงและผิดกฎหมาย  กลุ่มเป้าหมายหลักที่ซื้อสินค้าเหล่านี้มาใช้คือ ผู้ป่วยเรื้อรัง  ผู้สูงอายุที่อยู่ติดบ้าน และปัญหาอื่นๆก็ยังมีอยู่ถึงแม้จะมีหน่วยงานที่กำกับดูแลอยู่ก็ตาม
 

ThaiNGO  :   แล้วเราดำเนินงานอย่างไร บ้าง  ได้ผลหรือไม่ ?   เพราะว่าปัญหานี้เห็นทุกวัน ทุกสื่อ จนเหมือนว่าการละเมิดสิทธิ์ผู้บริโภคนั้น กลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว
นายศตคุณ 
:  บริการสาธารณะ เรื่องอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ เดิมทำงานเชิงรับคือ เฝ้าระวังผ่านสื่อ รับเรื่องร้องเรียนผ่านช่องทางต่างๆ เช่น ไลน์, อีเมล์, เพจและโทรศัพท์  แต่การทำงานแบบนี้ทำให้ผู้ร้องเรียนเข้าไม่ถึงแนวคิดของการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค  แก้ไขรายกรณีจบไปแล้วมาแก้ไขปัญหาใหม่   ต่อมาจึงขับเคลื่อนงานเชิงรุกมากขึ้น เช่น การลงพื้นที่แจ้งสิทธิให้กับผู้บริโภคโดยมีการนำแกนนำในพื้นที่ร่วมเรียนรู้ไปพร้อมกัน  การรวมกลุ่มผู้ประสบเหตุเพื่อสะท้อนปัญหาและแก้ไขเชิงนโยบาย ทำให้สิทธิของผู้บริโภคมีมากขึ้นตามกฎหมาย แต่ก็ยังเข้าไม่ถึงสิทธิเนื่องจากขั้นตอนการเรียกร้องสิทธิต้องใช้เวลา

            ส่วนเรื่องการโฆษณาอาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่เกินจริงและผิดกฎหมายการดำเนินงานที่ผ่านมามีการเฝ้าระวังแบบเชิงรุก เช่น นั่งบันทึกเทปรายการวิทยุ เฝ้าระวังการโฆษณาจนถึงขั้นจับปรับ ในช่วงแรกสถานีวิทยุตื่นตัวอย่างมากเพราะถูกปรับหลายหมื่นบาทและเสี่ยงต่อการถูกยุบสถานีวิทยุ  และสิ่งที่ตามมาอีกเรื่องหนึ่งคือ  ผู้ประกอบการสถานีวิทยุที่อยู่จังหวัดอื่นๆมีการโฆษณาเหมือนกันแต่ไม่ถูกปรับ เพราะไม่มีคนเฝ้าระวัง ไม่มีผู้ร้องเรียน ซึ่งสะท้อนกลับมาให้เห็นว่าหน่วยงานที่กำกับติดตามของแต่ละพื้นที่ทำงาน หรือขั้นตอนการทำงานของหน่วยงานเหล่านี้ควรดำเนินงานเป็นเครือข่ายเชื่อมร้อยกันทั้งประเทศหากจะแก้ไขปัญหา  เพราะหน่วยงานที่กำกับดูแลมีกฎหมายรองรับอยู่เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ปลอดภัย

            ผลของการดำเนินงาน เมื่อย้อนกลับมาดูก็จะพบว่าเมื่อขับเคลื่อนที่ไหนผลมันก็จะเกิดที่นั่น หากหยุดเคลื่อนงานการดำเนินงานที่ผ่านมาก็จะหยุดนิ่ง เพราะเราไม่ใช่หน่วยงานที่มีความพร้อมด้านงบประมาณและบุคลากรที่เพียงพอ ซึ่งตนคิดว่าเป็นปัจจัยหลักที่จะสามารถทำให้งานขับเคลื่อนได้

ThaiNGO  :   มาตรการในการดูแลหรือคุ้มครองผู้บริโภค ในปัจจุบันซึ่งก็อย่างที่เข้าใจ มีกระแสสินค้า โฆษณา มอมเมา หลอกลวงผู้บริโภค เยอะมาก เราคนทำงานจะปรับแผนงานยังไง
นายศตคุณ 
:   ต้องยอมรับความจริง ว่า ปัจจุบันนี้ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรผู้บริโภคภาคประชาชนหรือ หน่วยงานภาครัฐ ถือว่ายังตามไม่ทันผู้ประกอบการที่จ้องจะเอาเปรียบผู้บริโภค เช่น การโฆษณาขายสินค้าที่ไม่ปลอดภัยหรือผิดกฎหมาย เมื่อถูกจับปรับก็ปรับเปลี่ยนรูปแบบการโฆษณาเปลี่ยนรูปแบบสินค้า  กฎหมายไม่คุ้มครองบุคลากรหรือองค์ที่ดำเนินงานเพื่อปกป้องสิทธิหรือคุ้มครองผู้บริโภค โดยจะเห็นจากการที่หมอถูกฟ้องจากการออกมาเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ที่มีการโฆษณาเกินจริง ผิดกฎหมายทำให้ผู้ปฏิบัติงานเสียกำลังใจ   การดำเนินงานที่ผ่านมาจึงเป็นแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ คือ เหตุเกิดแล้วจึงค่อยแก้ไข  ครับ

 

ThaiNGO   :   ปัญหา หลักๆ จริงๆ ที่ทำให้ยังมีการก่อปัญหา มีการกระทำละเมิด หลอกลวงผู้บริโภค ฯลฯ คืออะไร และแนวทางแก้ไข น่าจะเป็นอย่างไร
นายศตคุณ  :   ปัจจุบันมีหน่วยงานของภาครัฐที่มีบทบาทหน้าที่ในการการคุ้มครองผู้บริโภคแทบทุกจังหวัด เช่น   สคบ., สสจ., พาณิชย์จังหวัด  เป็นต้น แต่ติดปัญหาคือบุคลากรของหน่วยงานเหล่านั้นมีจำนวนจำกัด   ทำให้การขับเคลื่อนงานไม่คล่องตัว  การที่มีองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคของภาคประชาชนเข้ามาร่วมขับเคลื่อนร่วมกันจะทำให้มีเครือข่ายการทำงานเพิ่มมากยิ่งขึ้น  และในปัจจุบันการสื่อสารเข้าถึงคนทุกเพศทุกวัยอย่างง่ายดายไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่เป็นเท็จหรือเป็นจริง การเพิ่มหลักสูตรการคุ้มครองผู้บริโภคเข้าไปเป็นวิชาเรียนหนึ่งเพื่อให้นักเรียน นักศึกษา ได้รับรู้ช่องทางร้องเรียนหรือช่องทางเรียกร้องสิทธิจะทำให้ผู้ประกอบการไม่กล้าเอาเปรียบผู้บริโภคเพราะผู้บริโภครู้เท่าทัน ครับ

 

ThaiNGO  :   เป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ มาทำงานรับภาระสังคมเหนื่อยไหม ?

 นายศตคุณ  :   การทำงานคุ้มครองผู้บริโภค หากเปรียบเทียบกับประเด็นงานเคลื่อนไหวอื่นๆทางสังคม ยังถือว่าไม่หนักเท่าไร  จะมีแรงบันดาลใจให้ทำงานต่อทุกครั้งเมื่อเราได้ช่วยเหลือผู้ร้องเรียนให้ได้รับการแก้ไขปัญหา ซึ่งการทำงานเรื่องนี้ เหมือนเป็นเรื่องตายตัวอยู่แล้วเพราะมีกฎหมายรองรับปัญหาของผู้บริโภค            เพียงแต่ต้องทำให้ผู้บริโภค เข้าถึงสิทธิของและเรียกร้องสิทธิของตน  และสิ่งที่เหนื่อย คือ การทำงานกับผู้ ร่วม ขับเคลื่อนงานที่ทำให้ตนเองหมดแรงบันดาลใจ เบื่อหน่ายกับคำพูดที่บั่นทอนจิตใจ ซึ่งตนคิดว่าทุกคนพัฒนาได้โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะพัฒนาตนเองเสมอ

             แต่ตอนนี้อายุ ๒๖ ปี และแต่งงานมีครอบครัวแล้ว และมีหนี้สินติดตัวคือ กยศ.ที่ต้องชำระในแต่        ละปี  ค่าใช้จ่ายของครอบครัวที่อาจจะเพิ่มขึ้นอนาคตต้องวางแผนชีวิตครอบครัว  วางแผนการใช้เงินอย่างมีระเบียบ การวางแผนครอบครัวจึงเป็นเรื่องหนักใจของผม ซึ่งฐานะทางครอบครัวไม่ใช่คนมีฐานะแต่อยากทำงานรับใช้สังคม ครับ

 

.

อัฎธิชัย ศริเทศ 
ทีมงานไทยเอ็นจีโอ รายงาน

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม