สึนามิที่ปาลูกระทบคนไทยด้วยเช่นกัน

1663 13 Oct 2018

สึนามิที่ปาลูกระทบคนไทยด้วยเช่นกัน

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

 กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้

 Shukur2003@yahoo.co.uk

              ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

            เป็นที่ทราบกันดีว่า เมื่อ 28 ก.ย.61  เกิดสึนามิ คลื่นยักษ์สูงนับ 2 เมตร ซัดชายฝั่งทั่วเมืองปาลู บนเกาะสุลาเวสี ประเทศอินโดนีเซีย หลังเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง ขนาด 7.5 เขย่าเกาะสุลาเวสีทำให้มีผู้เสียชีวิตนับพันและผู้สูญหายอีกจำนวนมากรวมทั้งบ้านเมืองมีความเสียไม่สามารถประเมินค่าได้

        ผลกระทบดังกล่าวไม่เพียงแต่คนอินโดนีเซียเท่านั้นแต่ยังมีคนไทยประมาณ 31 คน(นักศึกษาไทยที่ศึกษาอยู่ที่เมืองปาลู 28 คน และพนักงานบริษัท 3 คน )ได้รับผลกระทบแต่ต้องชื่นชมสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงจาการ์ตาได้ประสานทางการอินโดนีเซียนำเครื่องบินทหาร C-130  อพยพคนไทยทั้ง 31 คนออกจากเมืองปาลูทันที เนื่องจากสภาพความเป็นอยู่ไม่ปลอดภัย และทางการไทยได้นำนักศึกษาทั้งหมดกลับประเทศไทยโดยปลอดภัยโดยมี นายสรยุทธ ชาสมบัติ รองอธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ดร.มัสตารี ผู้ช่วยทูตการศึกษา สถานทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทย มาให้การต้อนรับ เนื่องจากนักศึกษาเหล่านี้เป็นนักศึกษาทุนของอินโดนีเซียด้วย และนายไพศาล ตอยิบ ผู้จัดการโรงเรียนอัตตัรกียะห์อิสลามียะห์ จังหวัดนราธิวาส ผู้ปกครองของนักศึกษา 2 คน และพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง อดีตเลขาธิการ ศอบต. และเลขาธิการพรรคประชาชาติ มาร่วมให้กำลังใจนักศึกษาที่ยอมรับว่า ขณะเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 กันยายน อาคารหอพักได้รับความเสียหาย จนต้องหนีมากลางสนามฟุตบอลของมหาวิทยาลัย เป็นเวลา 3 คืน

 

              นายฆอซาลี ศรีอาหมัดชาวหาดใหญ่ซึ่งมีลูกสาวนามว่านางสาวนุสรา ศรีอาหมัดซึ่งเป็นนักศึกษาทุนรัฐบาลอินโดนีเซียกำลังศึกษาอยู่มหาวิทยาลัยTadolako กล่าวว่า หลังจากทราบข่าวแผ่นดินไหวและสึนามิที่เมืองปาลูผมมีความกังวลมากๆเพราะลูกสาวศึกษาที่นี่ไม่สามารถติดต่อได้ในช่วงหลังเกิดแผ่นดินไหว

 

               นางสาวนุสรา ศรีอาหมัดเปิดเผยว่า “ดิฉันเป็นนักศึกษา 1 ในนักศึกษาไทยทั้งหมด ดิฉันเรียนที่มหาวิทยาลัยTadolako ซึ่งมีทั้งหมด11 คนที่เหลืออีกเรียนที่มหาวิทยาลัยIAIN ของเมืองนี้ ตอนที่แผ่นดินไหวดีที่ฉันและเพื่อนอยู่สนามจึงไม่ได้รับอันตราย และมหาวิทยาลัยอยู่ที่สูงห่างจากชายฝั่งเมืองดองกาลา ที่ประสบสึนามิ แต่ตอนแผ่นดินไหวทรงตัวไม่ได้ หลังจากนั้นพบว่าหอพักได้รับความเสียหายต้องหนีมากลางสนามฟุตบอลของมหาวิทยาลัย 3 คืน อาคารเรียนหลายอาคารร้าว เพดานหล่นตกมา ท่ามกลางไฟฟ้าที่ดับ บางคนได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย แต่พยายามรวมกลุ่มกัน หลังจากแผ่นดินไหวครั้งแรกก็มี อาฟเตอร์ช็อกอีกหลายครั้งทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย อยากกลับบ้านซึ่งท้ายสุดขอบคุณรัฐบาลอินโดนีเซีย รัฐบาลไทยนำพวกเรากลับมาได้

                         นายไพศาล ตอยิบ ผู้จัดการโรงเรียนอัตตัรกียะห์อิสลามียะห์ จังหวัดนราธิวาส ผู้ปกครองของนักศึกษา 2 คนเปิดเผยว่า รู้สึกเป็นห่วงพวกเขาทุกคนมากครับ เพราะช่วงที่ผมไปหาพวกเขาที่ปาลู พวกเขาเคารพผมมากๆ และเมื่อเกิดเหตุก็ต้องการให้พวกเขาออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุดครับโดยติดต่อกับสถานฑูตไทยในอินโดนีเซีย  สถานทูตอินโดนีเซียในไทย   สำหรับเรื่องการเรียนได้รับความกรุณาจากทูตอินโดนีเชียเป็นอย่างดี และขณะเราได้เปิดบัญชีรับบริจาคช่วยเหลือเหตุการณ์ครั้งซึ่งได้รับการตอบรับจากเพื่อนพ้องน้องพี่รวมทั้งคนไทยเป็นอย่างดี สำหรับ การรับบริจาคเรารับจนถึงวันที่8นี้ เพื่อรวมเงินทั้งหมดไปมอบให้แก่ฑูตที่กทม.ครับ   ผู้เขียนถามว่าบทเรียนเเผ่นดินไหวเเละสึนามิที่ปาลูอยากจะบอกอะไรให้กับคนไทยเเละประเทศไทยบ้างโดยเฉพาะเรื่องภัยพิบัติธรรมชาติ

ท่านตอบว่า  “ภัยพิบัติเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่การศึกษาหากเราไม่ศึกษา ไม่มีใครช่วยเราได้นอกจากตัวเราเอง อยากให้ทุกคนอดทน และพยายามต่อไป เพราะคนที่เป็นแนวหน้าทางการศึกษาของไทยเราที่ปาลูก็คือพวกเขานั่นเองครับ

          ครับปรากฎว่าภัยพิบัติครั้งนี้ได้รับการช่วยเหลือจากประเทศไทยเป็นอย่างดีทั้งรัฐบาลและเอกชน

          นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.กระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า เบื้องต้นรัฐบาลจะส่งเงินช่วยเหลืออินโดนีเซียราว 10 ล้านบาท

           สำหรับเอกชนต่างๆที่ช่วยเหลือเพิ่มเติมมีจำนวนมากหลายองค์กรโดยเฉพาะภาคใต้ หลายโรงเรียนเช่นโรงเรียนอัตตัรกียะห์ อิสลามียะห์ จังหวัดนราธิวาส (เป็นโรงเรียนแรกที่เปิดบัญชี) สมาคมโรงเรียนเอกชนจังหวัดชายแดนภาคใต้รวมถึงจังหวัดสงขลา สถาบันอัสลลามภายใต้มหาวิทยาลัยฟาตอนี   สภาเครือข่ายมนุษยธรรมของสำนักจุฬาราชมนตรีและสมาพันธ์ชาวพุทธจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นต้นเป็น

ไทยต้องถอดแผ่นดินไหว-สึนามิครั้งนี้

             สำหรับบทเรียนแผ่นดินไหว-สึนามิที่เมืองปาลู เกาะสุลาเวสี อินโดนีเซียครั้งนี้ซึ่ง จากเวทีเสวนาเห็นตรงกันว่าไทย ต้องถอดบทเรียนและอย่าประมาท (โปรดดูรายละเอียดhttps://www.thairath.co.th/content/1390828

              ศ.ดร.อมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร กล่าวว่า แผ่นดินไหวที่อินโดนีเซียมีขนาด 7.5 ความลึกอยู่ที่ประมาณ 10 กิโลเมตร ยังถือว่าเป็นแผ่นดินไหวในระดับตื้น ถ้าระดับลึกต้องเกิน 30 กิโลเมตรขึ้นไป แผ่นดินไหวระดับ 7.5 ถือว่าแรงแต่ไม่น่าทำให้เกิดสึนามิที่สูง ได้ เพราะที่ผ่านมา สึนามิจะเกิดขึ้นต้องเป็นแผ่นดินไหวระดับ 8-9 ขึ้นไป แต่ในกรณีที่เกิดขึ้นที่อินโดนีเซียนี้ เรียกได้ว่า อาจจะอยู่นอกการคาดหมายของนักวิทยาศาสตร์หลายๆ คน   เมื่อมาวิเคราะห์ถึงสาเหตุว่า ทำไมแผ่นดินไหวขนาด 7.5 แต่กลับทำให้เกิดสึนามิที่มีความสูงในระดับนี้ได้ ปัจจัยแรกคือแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นครั้งนี้ เป็นแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น บนบกซึ่งแตกต่างจากสึนามิที่เกิดจากแผ่นดินไหวที่ผ่านๆ มา  ซึ่งมักเกิดขึ้นในทะเลลึก แล้วทำให้เกิดคลื่นกระแสน้ำ เป็นสึนามิพัดเข้ามายังชายฝั่ง ต่อมาคือนอกจากแผ่นดินไหวเกิดขึ้นบนบกแล้ว ยังเกิดขึ้นจากการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนมีพลังอีกด้วย    สำหรับปัจจัยที่ทำให้สึนามิครั้งนี้มีความรุนแรงมากกว่าปกติ นักวิทยาศาสตร์กำลังวิเคราะห์ถึงปัจจัยเพิ่มเติม 2 ปัจจัย คือ ปัจจัยแรก อาจเกิดแผ่นดินถล่มใต้ทะเล เนื่องจากบริเวณชายฝั่งของเมืองปาลู มีสภาพภูมิประเทศเป็นที่ลาดชันสูง จึงเป็นไปได้ว่า แผ่นดินไหวนี้ ทำให้เกิดแผ่นดินถล่มในทะเล ทำให้เกิดมวลน้ำมหาศาลซัดเข้ามายังตัวเมืองปาลู
 
อีกปัจจัยหนึ่งน่าจะมาจากลักษณะทางภูมิศาสตร์ของตัวเมืองปาลู ซึ่งมีลักษณะเป็นอ่าวลึกเข้าไปเป็นรูปกรวย ทำให้เกิดการรวมศูนย์พลังงานให้เป็นจุดโฟกัสของคลื่นสึนามิที่วิ่งเข้ามา ทำให้เกิดพลังทำลายล้างที่รุนแรงมากขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ ยังเป็นเพียงข้อสันนิษฐานจากนักวิทยาศาสตร์หลายคน ที่คงต้องรอการพิสูจน์ข้อเท็จจริงต่อไป
 
นอกจากนี้ ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันคือ เรื่องการแจ้งเตือนภัย ว่าได้ผลหรือไม่ ซึ่งกรณีสึนามิที่อินโดนีเซีย ค่อนข้างโชคร้าย เพราะว่าเกิดแผ่นดินไหวในแผ่นดิน ทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบสาธารณูปโภค ระบบไฟฟ้า ระบบโทรศัพท์ ได้ถูกทำลายไป 

                      ดังนั้นปัจจัยสุดท้ายรัฐบาลไทยรวมทั้งทุกภาคส่วนต้องกลับไปดูระบบเตือนภัยไทยหลังจากสึนามิที่ภาคใต้เมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมายังมีมาตรฐานอีกหรือไม่เพราะมิฉะนั้นความเสียหายอาจจะหนักอย่างที่คาดไม่ถึง

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม