แรงงานไทย... ชีวิตต้องมีบั้นปลาย กับ บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์

3684 02 Oct 2018



หลายปีมานี่ผมติดตามผลงาน ตลอดจนภาพการดำเนินชีวิตนักวิชาการสาวไฟแรงมากด้านแรงงาน เพราะเป็นทั้งเพื่อนและคนทำงานพัฒนา ( NGOs) เหมือนกัน ในยุคที่กระแส “อุดมการณ์เพื่อนมวลชน”  ตกกระแส คนหนุ่มสาวหันไปสนใจมีจุดหมายเรื่องอื่นๆ แทน

 

บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ หรือปาน นักวิชาการสถาบันส่งเสริมภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ก่อตั้งเมื่อปี 2560 ในรูปสมาคม เพื่อทำงานด้านการส่งเสริมความเข้มแข็งองค์กรภาคประชาสังคมในประเทศไทย ปาน หรือ บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ ที่เพื่อนหรือพี่น้องสายแรงงานเรียก  เป็นอีกคนหนึ่งที่ยังยืนหยัดทำงานตรงนี้ แม้ว่าจะต้องเผชิญกับอันตราย หลายต่อหลายครั้ง ก็ตาม วันนี้ทีมงาน ไทยเอ็นจีโอ ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ สัมผัส วิธีคิด มุมมอง...

 

ThaiNGO :  อะไรทำให้หันมาทำงานพัฒนา สนใจเรื่องแรงงาน ทั้งๆที่มีงาน แบบว่า โรแมนติค กับเด็ก กับสิ่งแวดล้อม ที่คนส่วนใหญ่ชอบกัน
บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์  แรงบันดาลใจแรก  นี้อาจจะต้องย้อนไปเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ช่วงปี 2541-2542 สมัยเป็นกรรมการบริหารสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ปีที่ชัยธวัช ตุลาฑล (ต๋อม) เป็นเลขาธิการ ดิฉันยังเป็นนักศึกษาปี 3-4 เรียนปริญญาตรีอยู่คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ทับแก้ว นครปฐม และมีโอกาสได้ลงพื้นที่โรงงานไทยเกรียง ย่านพระประแดง (บริษัท ไทยเกรียงปั่นทอฟอกย้อม จำกัด) ซึ่งเป็นคนงานหญิงภาคอุตสาหกรรมในกิจการทอผ้าที่กำลังจะถูกเลิกจ้าง

ช่วงนั้นต้องบอกว่าสหภาพแรงงานไทยเกรียงมีความเข้มแข็งมากและเป็นปากเสียงให้พี่น้องแรงงานหลายกลุ่ม โดยเฉพาะการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะต่างๆ เช่น ประกันสังคม นำโดย “ป้ากุ้ง” อรุณี ศรีโต มีตำแหน่งเป็นประธานสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอและเลขาธิการสหภาพแรงงานไทยเกรียง

                อย่างไรก็ตามด้วยสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 นำมาสู่การร่วงโรยของอุตสาหกรรมสิ่งทอ  และโรงงานไทยเกรียงก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งๆที่ไทยเกรียงเป็นโรงงานทอผ้าขนาดใหญ่มากของประเทศไทยเลยทีเดียว เน้นงานปั่นด้าย และทอผ้าดิบ

ดิฉันจำไม่ได้ว่าการเผชิญหน้าระหว่าง “สหภาพแรงงาน” กับ “ฝ่ายบริษัท” ที่ส่ง “นักเลงหัวไม้” มาอยู่รายรอบโรงงาน และมีการตัดน้ำตัดไฟในระหว่างการชุมนุมเพื่อเจรจาต่อรองช่วงนั้นและดิฉันเข้าไปสัมพันธ์ด้วย มีเหตุผลกลใด

แง่หนึ่ง คือ ดิฉันก็ยังเด็ก อายุแค่ 20-21 ความเข้าใจเรื่องแรงงานในภาคอุตสาหกรรมมิพักจะเข้าใจได้โดยง่าย เป็นอารมณ์ของคนหนุ่มสาวมากกว่า ที่เห็นพี่น้องแรงงานถูกรังแก แล้วเราต้องไปหนุนช่วย คือ รู้ว่าทำอะไรไม่ได้ แต่ไปอยู่เป็นเพื่อนก็ยังดี

                จุดเริ่มต้นของการสนใจเรื่องแรงงานอาจจะมาจากค่ำคืนนั้นก็ได้ ที่พวกเราชาว สนนท. ประมาณ 5-6 คน อยู่ในห้องสหภาพแรงงานไทยเกรียงข้ามคืน โดยไม่มีไฟฟ้า เพื่ออยู่เป็นเพื่อนป้าๆที่ไม่สามารถออกจากโรงงานได้ เพราะมีนักเลงหัวไม้ดักอยู่ทุกทางออกเพื่อทำร้ายคนงานในช่วงเวลานั้น

การเผชิญหน้าอย่างเขม็งเกลียวรังแต่จะทำให้ป้าๆพ่ายแพ้และย่อยยับ "กรรมกรจงต่อสู้เพื่อกู้ชื่อและกู้ชาติ ชาวไทยเกรียงยืนหยัดต่อสู้ต่อไป" เสียงประกาศก้องของพี่น้องแรงงานดังอยู่เป็นระยะอย่างทรงพลัง และต่อมาเช้าวันนั้นเราก็ออกจากโรงงานได้ในที่สุด
 

นอกจากประเด็นเรื่องแรงงานไทยเกรียงแล้ว ต้องบอกว่าในสมัยที่ดิฉันยังเป็นนักศึกษาอยู่นั้นมีสถานการณ์การชุมนุมของ “นักศึกษาพม่า ที่เรียกว่า กลุ่ม ABSDF หรือ All Burma Students' Democratic Front หน้าสถานทูตพม่า ตรงแถวๆสถานีรถไฟฟ้าสุรศักดิ์ในปัจจุบันบ่อยครั้ง เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า ที่เผด็จการทหารเข้ามาปกครองประเทศอย่างยาวนาน และนำไปสู่การปิดมหาวิทยาลัย การเข่นฆ่าทำร้ายผู้คิดต่างกระทั่งพระสงฆ์ การจับกุมคุมขังผู้นำนักศึกษาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งการทำร้ายกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ” และนักศึกษาพม่ากลุ่มนี้มีการประสานงานกับ สนนท. ในการหนุนช่วย เช่น การยื่นจดหมาย การออกแถลงการณ์เรียกร้องกับรัฐบาลไทยให้มีจุดยืนเคียงข้างประชาธิปไตย

ครั้งหนึ่งมีการชุมนุมของนักศึกษาพม่าร่วมเดือน และดิฉันกับเพื่อน สนนท. เช่น “แต๊ก-วิไลพร จิตรประสาน” ที่มาจากชมรมเสื่อมโทรม รามคำแหง ปัจจุบันทำงานจัดตั้งกลุ่มแรงงานภาคบริการและอาหาร ได้มานอนค้างคืนกับเพื่อนนักศึกษาพม่า และค่ำคืนนั้นมีเหตุการณ์การปา-เขวี้ยงขวดน้ำปลา 2-3 ขวด เข้ามาในที่ชุมนุมที่พวกเรานั่งอยู่ จนเพื่อนจากพม่าได้รับบาดเจ็บที่ใบหน้า ที่ศีรษะ และดิฉันต้องพาส่งโรงพยาบาลใกล้เคียง ระหว่างนั้นเองเราพบว่า เพื่อนเหล่านี้บางคนต้องกลายมาเป็น “แรงงานข้ามชาติหลบหนีเข้าเมืองไม่ถูกกฎหมายเพื่อเลี้ยงชีพ เพื่อมีรายได้ในการต่อสู้” และเงินที่จ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลก็มาจากการทำงานเป็นแรงงานหลบๆซ่อนๆในประเทศไทย
 

ต่อมาหลังเรียนจบไม่นาน ดิฉันมีโอกาสขึ้นไปบนดอยไตแลงกับทีม “IMAGE ASIA” ของ “พี่แซม-สิทธิพงษ์ กัลยาณี” (เสียชีวิตแล้ว) ที่มี “เจ้ายอดศึก” ผู้นำกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ ในฐานะประธานสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉานในช่วงนั้น ซึ่งตั้งฐานทัพอยู่บริเวณตรงข้ามจังหวัดแม่ฮ่องสอน และพบกับ “เจ้ายอดศึก” ได้สนทนาเรื่อง “ชีวิตทหารเด็ก ทหารหญิงจำนวนมาก ที่ต้องกลายมาเป็นทหารตั้งแต่อายุยังน้อยในกองทัพ เพื่อหนีความโหดร้ายจากทหารพม่า”
 

นี้ไม่นับว่าตนเองเห็นภาพช่วงระหว่างการสวนสนามในวันชาติของไทใหญ่ แล้วน้องทหารเป็นลมต่อหน้าต่อตา เพราะทนกับความแรงของแดดไม่ได้ เพราะหากไม่เป็นทหาร บางคนก็ต้องอพยพหลบหนีมาเป็นแรงงานในไร่ส้ม ไร่เกษตรที่เชียงใหม่แทน ต้องเผชิญกับสารเคมีที่รุนแรง การหนีตำรวจ การไม่ได้รับค่าจ้าง หรือถึงเวลาจ่ายค่าจ้างแล้วนายจ้างเรียกตำรวจมาจับ

ทั้ง 3 ปรากฎการณ์นี้ต่างเป็น “แรงบันดาลใจแรกและหมุดหมายสำคัญที่ทำให้ดิฉันมาสนใจเรื่องแรงงานในเวลาต่อมา”   


แรงบันดาลใจที่สอง ในช่วงเวลาหนึ่งอดีตแฟนดิฉันทำงานด้านแรงงานข้ามชาติในเชิงนโยบายโดยตรงด้วย ก็เลยทำให้ตนเองมาสนใจเรื่องนี้ไปโดยอัตโนมัติเพื่อจะได้เข้าใจงานที่เขาทำ และเราจะเกื้อกูลอะไรได้บ้าง จากความสนใจเลยพัฒนามาเป็นส่วนหนึ่งและส่วนสำคัญของชีวิต จนนำมาสู่การทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทช่วงปี 2550 เรื่อง “ยุทธศาสตร์การอยู่รอดของแรงงานข้ามชาติจากพม่าในประเทศไทย” โดยศึกษาถึงกลยุทธ์ต่างๆทั้งทางการและไม่ทางการเพื่อทำให้แรงงานข้ามชาติสามารถทำงานหรือดำรงชีวิตในประเทศไทยได้อย่างอยู่รอด ปลอดภัย เป็นสุข

กลยุทธ์หนึ่งที่พบคือ บทบาทของสหภาพแรงงานไทยในการปกป้องคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ ก็หันมาสนใจบทบาทสหภาพแรงงานในเวลาต่อมา และเข้ามาช่วยงานด้านวิชาการในองค์กรแรงงานที่ชื่อว่า “คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย – คสรท.” โดยเป็นงานจิตอาสา งานอาสาสมัครในหลายปีต่อมา และองค์กรแรงงานอื่นๆ

ดิฉันเป็นนักเรียนมานุษยวิทยา ปริญญาตรีก็ถูกเทรนมาทางด้านสังคมศาสตร์การพัฒนาโดยตรง พอมาเรียนปริญญาโทก็ให้ความสำคัญด้านพัฒนาชนบท ดังนั้นการมองการวิเคราะห์ปัญหาแรงงาน จึงมีจุดยืนสำคัญเฉกเช่นที่บอกว่า “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน” กรณีดิฉัน “คำตอบอยู่ที่ตัวพี่น้องแรงงานกลุ่มต่างๆ” การเลือกข้างที่มองจากจุดยืนแรงงานจึงสำคัญ

อย่างไรก็ตามการมองแรงงานไม่สามารถมองแบบเหมารวมได้โดยเด็ดขาด ในแรงงานก็มี “ชนชั้น” ใน “ชั้นชนตนเอง”

ดังนั้นเราจำเป็นต้องจำแนกให้เห็นบริบทต่างๆเหล่านี้ร่วมด้วย เช่น ในแรงงานภาคอุตสาหกรรม ความต่างของแรงงานในกิจการรถยนต์ กิจการชิ้นส่วนยานยนต์ กิจการไฟฟ้าอิเลคทรอนิคส์ ก็มีความต่างในการรวมตัวและเจรจาต่อรองจากแรงงานในกิจการทอผ้า ในกิจการอาหารหรือภาคบริการ เป็นต้น นี้ไม่นับในเรื่องการเข้าถึงสิทธิต่างๆ ก็แตกต่างกัน 

ขณะเดียวกันแนวคิดสหภาพแรงงาน ที่พอแปรมาเป็นกลไกภาคปฏิบัติการ แบ่งคนเป็นชั้นๆตั้งแต่ประธานสหภาพแรงงาน รองประธาน เลขาธิการ กรรมการฝ่ายต่างๆ นี้ทำให้แนวคิดชนชั้นมีลักษณะสูงมากในงานสหภาพแรงงานในกลุ่มแรงงานในระบบ โดยเฉพาะประธาน หรือคนตำแหน่งใหญ่ๆต้อง “ถูกต้องเสมอ-มาก่อนเสมอ-เสียงดังกว่าเสมอ” ทั้งๆที่ความจริงอาจไร้ content อย่างมาก แต่กลับมีส่วนชี้นำทิศทางงาน ทิศทางองค์กร ซึ่งนี้คือเรื่องอันตรายมาก ทำให้งาน content จึงมีความสำคัญตรงนี้เพื่อทำให้แรงงานทุกคนได้เท่ากันผ่านงานข้อมูลที่ตามกันทัน

 

ThaiNGO  :   ในยุคที่ AI  กำลังมาทดแทนแรงงาน จะมีทางเลือกทางรอดอย่างไร ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โทษทุน โทษรัฐ ก็ไม่ได้
บุษยรัตน์  กาญจนดิษฐ์  : อย่างที่ดิฉันบอกไปแล้วว่า “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน” แรงงานจำนวนไม่น้อยยังมีฐานการผลิตอยู่ที่หมู่บ้าน ดังนั้นการให้ความสำคัญกับภาคเกษตรเพื่อเป็นฐานรองรับแรงงานในภาคอุตสาหกรรมยามเกษียณอายุจากการทำงานหรือออกจากงานจึงสำคัญ ทำอย่างไรทั้งคนงานและบริษัทเองจะเตรียมความพร้อมในเรื่องแบบนี้ตั้งแต่ยังใช้ชีวิตในโรงงาน ไม่ใช่แค่มุ่งเพียงโบนัสหรือสวัสดิการสูงๆเท่านั้น

แต่อาจจำเป็นต้องมีโครงการเตรียมพร้อมอาชีพทางเลือกก่อนจากโรงงานไป เพื่อทำให้แรงงานมั่นใจว่าอย่างไรก็ตามเขาไม่ตกงานแน่นอน มีกินมีใช้แน่นอน และตัวบริษัทเองก็ต้องเข้ามาสนับสนุนในเรื่องวิธีคิดนี้ด้วยเช่นกัน ให้เป็นงานระดับบริษัท ไม่ใช่แค่เรื่องของแรงงานเท่านั้น

เพราะอย่างที่เราทราบทุกวันนี้ รัฐสวัสดิการก็เป็นได้แค่สวัสดิการบางอย่างของรัฐ การปกป้องคุ้มภัยความเสี่ยงหลังออกจากงานจึงฝากความหวังไว้ที่นโยบายรัฐไม่ได้ การสร้างพื้นที่งานรองรับในอนาคตจึงเป็นสิ่งสำคัญมากกว่า ในเรื่องนี้บางโรงงานก็เริ่มมีการดำเนินการอยู่ เช่น โรงงาน AAT ที่ระยอง ที่ผลิตรถฟอร์ด-มาสด้า เป็นต้น

 

ThaiNGOs :  ชีวิตกับการทำเพื่อกลุ่มคนแรงงาน พบคำตอบ อะไรสำคัญๆ กับชีวิตตัวเองบ้าง   
บุษยรัตน์  กาญจนดิษฐ์  :  ดิฉันจำได้ว่า อ.ประมวล เพ็งจันทร์ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า "อุดมคติเปรียบประดุจดวงดาวบนท้องฟ้า ที่ไม่ได้มีแสงสว่างไว้ส่องให้มองเห็นทางที่เรากำลังก้าวเดินไป แต่มีไว้เพื่อบอกให้รู้ทิศทาง อุดมคติไม่ได้มีไว้เพื่อให้เราสะดวกสบาย แต่มีไว้เพื่อนำทางชีวิต อุดมคติ คือ มนุษยธรรมจะนำพาไม่ให้เราหลงทาง ขอจงมีดวงดาวแห่งมนุษยธรรมที่สว่างไสว และจงเดินไปในทิศทางแห่งดวงดาว คือมนุษยธรรมนั้น แล้วเราจะไม่หลงทาง"

                นี้กระมั้งคือสิ่งสำคัญที่ชีวิตได้พบ ชีวิตอุดมคติมีความหมาย กินได้ และเป็นจริง พอๆกับทุกครั้งที่ดิฉันได้สนับสนุนงาน content ต่างๆแก่พี่น้องแรงงานแล้วได้ “รอยยิ้มกลับคืนมา” มันทำให้ดิฉันรู้ว่า “ความหวังในการทำงานอยู่ตรงนี้” เป็นงานเบื้องหลัง เงียบๆเล็กๆ ไม่ต้องมีใครจำได้ รู้จัก แต่เราต่างเชื่อมั่นว่า “เราจะสร้างพรุ่งนี้ไปด้วยกัน”

ว่าไปแล้ว 20 ปีบนเส้นทางสายนี้ การทำงานย้ำเตือนดิฉันเสมอมาว่า พี่น้องแรงงานมีศักยภาพ โดยเฉพาะคนตัวเล็กๆที่ไม่แสดงออก ไม่เคยอยู่หน้าเวที นั่งหลังห้อง อ่านไลน์เงียบๆและไม่เคยแสดงความคิดเห็นอะไร กระทั่งส่งสติ๊กเกอร์ก็ตามที

แต่คนเหล่านี้เองเมื่อถึงเวลาหนึ่ง พวกเขาแสดงให้ดิฉันเห็นว่า เราทุกคนต่างมีหน้าที่ของตัวเอง เราต่างมีความถนัดที่แตกต่างกัน

และวันนั้น “งานข้อมูลแรงงาน” งาน content เงียบๆเล็กๆหลังห้องมีความสำคัญ

การทำงานแรงงานที่ดีที่สุดจึงคือ รู้พื้นที่ของตัวเอง และปล่อยพื้นที่ที่เราไม่ถนัดให้คนที่เขาถนัดกว่า เปิดพื้นที่ให้เขาได้แสดงฝีมือออกมา ทุ่มเทสุดแรงใจ ดึงศักยภาพสูงสุดของตัวเองออกมาให้ได้ ทำสิ่งนั้นให้สุดความสามารถ

บนเส้นทางข้างหน้า ไม่มีใครให้คำตอบได้หรอกว่างานแรงงานจะเปลี่ยนแปลงได้จริงไหม คุณภาพชีวิตพี่น้องแรงงานจะดีขึ้นไหม ทุกย่างก้าวของการทำงาน กอปรไปด้วยสิ่งที่เราไม่รู้ระหว่างทางเสมอ เจอะเจอกับอะไรหลากหลายที่เราไม่คุ้นชิน

ความไม่แน่อนที่เราเผชิญบนเส้นทางการทำงาน ระหว่างที่เราก้าวข้ามไปทีละก้าว ทีละก้าว ก้าวที่ย่างไปข้างหน้าบนอนาคตที่ไม่ชัดเจน กลับทำให้เราเชื่อมั่นว่า เรามาถูกทางแล้ว เราวางใจตัวเองว่าจะข้ามผ่านแต่ละวันไปได้ แม้ทางข้างหน้าดูพร่าเลือน ทั้งที่ไม่มั่นใจ แต่เราไม่เคยถอยหลัง แม้เส้นทางที่ก้าวไปจะไม่มีวันชัดเจนและเห็นผลในช่วงชีวิตเราก็ตาม บางทีเมื่อรู้ว่า “ความหวัง” รออยู่ข้างหน้า แค่นี้ก็อาจเพียงพอแล้ว

 

13 กันยายน 2561

อัฎธิชัย  ศิริ เทศ   รายงาน...

 

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม