นิเวศน้ำซับคำป่าหลายกำลังถูกทำลายจากการขอประทานบัตรทำเหมืองหินทราย

1627 29 Sep 2018

 

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์

๑๘ กันยายน ๒๕๖๑

 

 

 

๑ สิงหาคม ๒๕๖๑  กลุ่มอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่  สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดมุกดาหาร  ได้ติดประกาศคำขอประทานบัตรที่ ๒/๒๕๕๙ ทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินทรายเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างเนื้อที่ ๒๑๕ ไร่ ๓ งาน ๓๘ ตารางวา  ของบริษัท ทรี มาเธอร์ เทรดดิ้ง จำกัด[[1]เอาไว้ในพื้นที่ตำบลคำป่าหลาย  อ.เมือง  จ.มุกดาหาร  เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนคัดค้านภายใน ๓๐ วัน  ก่อนที่จะดำเนินการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา ๕๖ วรรคสอง  แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.. ๒๕๖๐  หรือกฎหมายแร่ฉบับใหม่เป็นขั้นตอนต่อไป 

 

ชาวบ้านในนาม กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลายจึงได้ยื่นหนังสือคัดค้านตามกำหนดเวลาโดยให้เหตุผลว่า  ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตลอดจนระบบนิเวศในพื้นที่ยังมีความอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งน้ำซับของคนในพื้นที่ตำบลคำป่าหลายและพื้นที่ใกล้เคียงที่มีน้ำเพียงพอใช้ได้ตลอดทั้งปี  และยังเป็นแหล่งป่าต้นน้ำที่มีน้ำผุด ดานกะลอมที่ไหลลงลำห้วยปงและลำห้วยบังทรายและแม่น้ำโขงเป็นลำดับถัด ๆ ไป  หากเกิดการทำเหมืองแร่ขึ้นมาแหล่งน้ำซับอาจจะหายไป  ยากแก่การหาแหล่งน้ำอื่นมาทดแทนได้    

 

ความรู้ทางธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณีบอกกับเราว่าหินทรายในบริเวณดังกล่าวมีคุณสมบัติไม่เหมาะสมต่อการใช้เป็นวัสดุในการก่อสร้างอาคาร  แต่เหมาะสำหรับใช้เป็นหินถมที่และหินถมสร้างเขื่อนกันตลิ่งพังริมฝั่งแม่น้ำลำธาร  ส่วนความรู้ของชาวบ้านบอกกับเราว่าบริเวณแหล่งหินทรายเหล่านี้มักมีแหล่งน้ำซับซึมผุดขึ้นมาเป็นหย่อม ๆ ให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์มาอย่างยาวนานนับตั้งแต่สร้างบ้านแปลงเรือน 

 

นิเวศวิทยาของชาวบ้านได้พึ่งพาน้ำซับที่ผุดขึ้นมาจากหินทรายเหล่านี้มาเนิ่นนานหลายชั่วอายุคนแล้ว  ที่ตำบลคำป่าหลายมีบ่อน้ำซับแหล่งใหญ่อย่างน้อยสามบ่อที่ชาวบ้านใช้สำหรับทำการเกษตรและประโยชน์ใช้สอยอื่นในชีวิตประจำวัน  บ่อน้ำซับที่ใกล้เขตคำขอประทานบัตรที่สุดห่างกันแค่ ๓๐๐ เมตร  ไม่เพียงเท่านั้น, ลักษณะของน้ำซับที่นั่นนอกจากจะผุดขึ้นมาเป็นตาน้ำใหญ่ไหลรวมกันเป็นแอ่งและเป็นบ่อที่มีขนาดใหญ่ขึ้นแล้ว  ยังมีลักษณะน้ำซับที่ซึมออกมาจากเนื้อหินทรายกระจายไปทั่วบริเวณด้วย  ซึ่งหินทรายที่ถูกกำหนดให้เป็นเขตคำขอประทานบัตรของบริษัทฯก็มีน้ำซับซึมไหลแทรกเนื้อหินทรายขึ้นมาบนพื้นผิวกระจายไปทั่วบริเวณเช่นเดียวกัน

 

มีเรื่องน่าสนใจตรงที่กฎหมายแร่ฉบับใหม่  มาตรา ๑๗ วรรคสี่ได้บัญญัติเนื้อหาสอดคล้องกับความรู้ในนิเวศวิทยาของชาวบ้านเอาไว้ว่า พื้นที่ที่จะกําหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทําเหมืองต้องไม่ใช่พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ  เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า  เขตโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน  โบราณวัตถุ  ศิลปวัตถุ  และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ  เขตพื้นที่ที่มีกฎหมายห้ามการเข้าใช้ประโยชน์โดยเด็ดขาด  พื้นที่เขตปลอดภัยและความมั่นคงแห่งชาติ  หรือพื้นที่แหล่งต้นน้ําหรือป่าน้ําซับซึม”  นั่นหมายความว่าแหล่งหินทรายที่นั่นมีความอ่อนไหวทางระบบนิเวศสูงมาก  ในสภาพพื้นที่จริงนอกจากเป็นแหล่งน้ำซับน้ำซึมแล้ว  ยังเป็นพื้นที่แหล่งอาหารหาอยู่หากินของชาวบ้านอีกด้วย  หากเกิดกระทบกระเทือนจากการระเบิดที่ประกอบด้วยปุ๋ยแอมโมเนียมไนเตรทผสมน้ำมันดีเซลเพื่อทำเหมืองหินทรายอาจจะส่งผลให้แหล่งน้ำสำคัญต่อชีวิตของผู้คนที่นั่นเสียหายไปด้วยอย่างแน่นอน   

 

ในด้านการคมนาคมขนส่งที่ระบุไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม  หรือ EIA  หากมีการทำเหมืองเกิดขึ้นจะมีรถบรรทุกหนักขนแร่วิ่งเข้าออกหมู่บ้านไม่ต่ำกว่าวันละ ๑๐๘ เที่ยว (แบ่งเป็นรถเปล่า ๕๔ คัน  และบรรทุกแร่เต็มรถอีก ๕๔ คันนั่นแสดงว่าจะมีรถบรรทุกแร่หินทรายวิ่งเข้าออกหมู่บ้านเดือนละ ๓,๒๔๐ เที่ยว  ปีละ ๓๙,๔๒๐ เที่ยว  และ ๙๘๕,๕๐๐ เที่ยวตลอดอายุประทานบัตร  จากปริมาณสินแร่หินทรายที่คำนวณได้ตลอดอายุประทานบัตร ๒๕ ปี  เท่ากับ  ๑๙,๗๑๑,๖๒๐ เมตริกตัน  คิดเป็นเงินจากการขายแร่หินทรายที่ ๑๕๐ บาทต่อเมตริกตัน  ตลอดอายุประทานบัตรจะได้เป็นเงิน ๒,๙๕๖,๗๔๓,๐๐๐ บาท  มันจึงเป็นตัวเลขที่ยั่วยวนใจสมาชิกสภาเทศบาลตำบลคำป่าหลายเมื่อคราวการประชุมสมัยวิสามัญ สมัยที่ ๑  ครั้งที่ ๑  ประจำปี ๒๕๖๐  วันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๖๐  ณ ห้องประชุมสภาเทศบาลตำบลคำป่าหลาย  ให้ยกมือรับรองรายงานการประชุมประชาคมของชาวบ้านนาคำน้อยหมู่ที่ ๖ เพื่อให้บริษัทฯดำเนินการขอประทานบัตรในขั้นตอนต่อไปได้ด้วย ๗ คะแนนเสียง  อีก ๕ คะแนนเสียงแทนที่จะยกมือไม่เห็นด้วย  แต่ลังเลใจจึงใช้วิธีแสดงตนว่างดออกเสียงแทน  เผื่อวันข้างหน้าอาจจะเปลี่ยนใจมาสนับสนุนเหมืองได้  ทั้งหมดนี้ก็เพื่อผลประโยชน์ที่จะได้จากค่าภาคหลวงแร่เพียงปีละ ๙๔๖,๑๕๘ บาทเท่านั้น[[2]ไม่ใช่ปีละ ๑,๖๐๐,๐๐๐ บาท  ตามความเข้าใจผิดของสมาชิกสภาเทศบาลตำบลคำป่าหลายที่ยกมือให้กับเหมือง     

 

 

[[1]ประกาศกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่  เรื่อง  ขอประทานบัตรทำเหมืองแร่  คำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินทรายเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง  คำขอที่ ๒/๒๕๕๙  เนื้อที่ประมาณ ๒๑๕ ไร่ ๓ งาน ๓๘ ตารางวา  ตั้งอยู่ในหมู่บ้านที่ ๖ ตำบลคำป่าหลาย  อำเภอเมืองมุกดาหาร  จังหวัดมุกดาหาร  ประกาศ ณ วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๑  ลงชื่อนายวสันต์ นิสัยมั่น  เจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่

[[2]กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ประกาศพิกัดค่าภาคหลวงแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินทรายอยู่ที่ร้อยละ ๔ จากราคาขายของสินแร่  โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๕๘ เป็นต้นมา  โดยเทศบาลตำบลคำป่าหลายซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่คำขอประทานบัตรจะได้ส่วนแบ่งร้อยละ ๒๐ จากค่าภาคหลวงแร่

หกปีก่อนหน้านี้กรมทรัพยากรธรณีมีความเห็นไว้ว่า[[1]เนื่องจากแหล่งหินทรายบริเวณดังกล่าวอยู่ใกล้หมู่บ้านแหล่งชุมชน  และจากผลการสำรวจจะเห็นได้ว่าทรัพยากรแร่ของจังหวัดมุกดาหารถึงแม้จะมีปริมาณไม่สูงมาก  แต่การนำทรัพยากรแร่มาใช้ประโยชน์ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมก็ได้ส่งผลกระทบหลายด้าน  โดยเฉพาะทางสังคมและสิ่งแวดล้อม  ดังนั้น  การนำทรัพยากรแร่ของจังหวัดมุกดาหารมาใช้ประโยชน์ควรคำนึงถึงความต้องการใช้ประโยชน์แร่ชนิดนั้นของประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก  โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม  และต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายโดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกภาคส่วน 

            โดยอธิบายขยายความเพิ่มเติมไว้ด้วยว่า  หากจะนำหินทรายในบริเวณดังกล่าวมาพัฒนาโดยส่งเสริมและสนับสนุนให้เอกชนหรือแม้กระทั่งรัฐเองเข้าไปทำเหมืองแร่จะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อชุมชนเป็นอย่างมากด้วย  โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในขั้นตอนต่าง ๆ ของกระบวนการพิจารณาอนุญาตตามแนวทาง  ระเบียบและกฎหมายที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด  โดยประเด็นสำคัญที่ต้องร่วมพิจารณา  เช่น  ข้อจำกัดเชิงพื้นที่  และการมีส่วนร่วมในการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมทั้งก่อน  ระหว่าง  และภายหลังการทำเหมือง  เป็นต้น 

            ซึ่งเป็นข้อคิดเห็นหรือข้อแนะนำที่ดีมาก  แต่ความจริงกลับพบว่า EIA  หรือ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม  โครงการทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินทราย  เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง  คำขอประทานบัตรที่ ๒/๒๕๕๙  ตั้งอยู่ที่  หมู่ที่ ๖  ตำบลคำป่าหลาย  อำเภอเมืองมุกดาหาร  จังหวัดมุกดาหาร”  ที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านเหมืองแร่ (คชก.)  ให้ความเห็นชอบไปแล้วตั้งแต่วันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๐  ที่อยู่ในมือของบริษัทฯและหน่วยงานราชการกลับไม่ได้เปิดเผยเป็นการทั่วไปให้ชาวบ้านได้รับทราบหรือสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างอิสระเสรี

 

ในวันประชุมสมัยวิสามัญ สมัยที่ ๑ ที่ยกมือให้เหมือง ๗ เสียงนั้น  ทั้งพนักงานบริษัทฯและสมาชิกสภาเทศบาลได้หยิบยกเรื่องผลกระทบด้านลบต่อวิถีชีวิตและสภาพแวดล้อมขึ้นมาพูดคุยกันประปราย  ซักถามกันพอประมาณเพราะรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ยังอยู่ในระหว่างการจัดทำและยังไม่ได้รับความเห็นชอบจาก คชกจึงไม่มีข้อมูลข้อเท็จจริงในการประเมินและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมมาแสดงให้สมาชิกสภาเทศบาลได้เห็นเลย  แต่ใช้เวลาส่วนใหญ่คุยกันถึงผลกระทบด้านบวกที่จะได้รับจากการทำเหมือง  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าภาคหลวงแร่  กองทุนเฝ้าระวังดูแลสุขภาพของชุมชน  กองทุนพัฒนาหมู่บ้าน  การจ้างงาน (ซึ่งไม่บอกว่ากี่ตำแหน่ง  แต่บอกแค่ว่าราษฎรซึ่งทำกินในบริเวณที่ขอประทานบัตร ๔ ราย  จะจ้างให้เป็นยามหรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและผลประโยชน์ที่จะได้รับอื่น ๆ  จึงนับว่าเป็นกระบวนการพิจารณาอนุญาตให้ดำเนินการขอประทานบัตรที่ไม่ถูกต้องเอาเสียเลย  เพราะไม่มีข้อมูลข้อเท็จจริงด้านการประเมินและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมมาประกอบการตัดสินใจได้อย่างละเอียดถี่ถ้วนเพียงพอ

 

ข้อย้อนแย้งที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือในท้องที่ตำบลคำป่าหลายมีความขัดแย้งเรื่องการใช้ประโยชน์ในที่ดินเขตป่ามายาวนาน  นโยบายจัดสรรที่ดินทำกินในเขตป่าและขับไล่คนออกจากป่าเปลี่ยนมาตามยุคสมัย  ปัจจุบัน, จากผลของนโยบายทวงคืนผืนป่าตามคำสั่ง คสช. ที่ ๖๔/๒๕๕๗  มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้บางคนกำลังดำเนินการเพื่อยึดคืนที่ดินทำกินในเขตป่าของชาวบ้านซึ่งอยู่ในเขตคำขอประทานบัตรแปลงดังกล่าวเอาไปให้เอกชนทำเหมืองหินทราย 

            ในขณะที่ชาวบ้านต้องการความยั่งยืนในการดำเนินชีวิตอันประกอบด้วยความมั่นคงในที่ดินสามส่วนด้วยกัน  อันได้แก่  ที่ดินอยู่อาศัยซึ่งเป็นที่ตั้งบ้านเรือน  ที่ดินทำกินเพื่อปลูกอาหารและเลี้ยงสัตว์  และที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนรวมอย่างเช่นป่าชุมชนเพื่อใช้สอยในประโยชน์สาธารณะตามฤดูกาล  ซึ่งในคำสั่ง คสช. ที่ ๖๖/๒๕๕๗ ที่ออกมาปรามการกระทำของเจ้าหน้าที่ไม่ให้ใช้มาตรการและวิธีรุนแรงกับชาวบ้านตามคำสั่ง คสช. ที่ ๖๔/๒๕๕๗ มากจนเกินไปก็ระบุไว้ชัดเจนว่า การดําเนินการใด ๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้  ผู้ที่มีรายได้น้อย  และผู้ไร้ที่ดินทํากิน  ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้น ๆ ก่อนคําสั่งนี้มีผลบังคับใช้  ยกเว้นผู้ที่บุกรุกใหม่  จะต้องดําเนินการสอบสวน  และพิสูจน์ทราบ  เพื่อกําหนดวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมและดําเนินการตามขั้นตอนต่อไป”  ทั้ง ๆ ที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่นั่นก็เป็นผู้อาศัยในพื้นที่เดิมนั้น ๆ ก่อนคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ก็ยังถูกกลั่นแกล้ง  อาจจะด้วยผลประโยชน์บังตาหรือไม่ก็ไม่อาจชี้ชัดได้เพราะไม่มีหลักฐานหนักแน่นเพียงพอที่จะกล่าวหาเจ้าหน้าที่คนนั้นได้   

 

แต่ทั้งหมดนี้  จะส่งผลให้ระบบนิเวศน้ำซับคำป่าหลายถูกทำลายลงหากกลไกและมือไม้ของรัฐอนุญาตให้ประทานบัตรทำเหมืองหินทราย.

 

                                                                       

 

ภาพประกอบบทความ

. ชื่อไฟล์ “1”  แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ  เส้นสีแดงล้อมรอบด้านบนคือเขตคำขอประทานบัตรที่ ๒/๒๕๕๙  เส้นสีแดงล้อมรอบด้านล่างคือเขตป่าน้ำซับซึมและบ่อน้ำซับบ่อที่ ๓  (เครดิตภาพ : กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย)

 

. ชื่อไฟล์ “2”  ภาพถ่ายชาวบ้านยืนถือป้ายคัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองหินทราย  (เครดิตภาพ : กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย)

 

. ชื่อไฟล์ “3” - “15”  ภาพถ่ายจากจุดบ่อน้ำซับบ่อที่ ๓  (เครดิตภาพ : อดิศักดิ์ ตุ้มอ่อน)

. ชื่อไฟล์ “16” - “18”  ภาพถ่ายหมุดเขตคำขอประทานบัตรและสภาพหินทรายในบริเวณคำขอประทานบัตรที่ ๒/๒๕๕๙  (เครดิตภาพ : อดิศักดิ์ ตุ้มอ่อน)

 

[[1]จากเอกสาร การจำแนกเขตเพ่ือการจัดการด้านธรณีวิทยา  และทรัพยากรธรณีจังหวัดมุกดาหาร”.  กรมทรัพยากรธรณี  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม๒๕๕๕

 

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม