มันกับมุมมอง “บารมี ชัยรัตน์” ผมไม่ใช่ NGOs!!

5442 01 Sep 2018

มันกับมุมมอง “บารมี ชัยรัตน์”  ผมไม่ใช่ NGOs!!

ในแวดวงคนทำงานพัฒนาแบบสายก้าวหน้า นักเคลื่อนไหว นักกิจกรรม ไม่มีใครไม่รู้จักชื่อ “บารมี ชัยรัตน์” ยิ่งในโลกโซเชียลแล้ว ยิ่งรู้กิตติศัพท์การวิพากษ์วิจารณ์ เหน็บแนม กัด กระเทาะได้คม ลึก และขันขื่น อย่างร้ายกาจ จากสำบัดสำนวน ชายที่ชื่อ “บารมี ชัยรัตน์”  ตำแหน่งปัจจุบันคือ ผู้ประสานงานสมัชชาคนจน ผู้คร่ำหวอดบนเส้นทางงานเคลื่อนไหวกับขบวนสมัชชาคนจนมายาวนานกว่า 20 ปี

หลายๆ คนที่ไม่ได้คลุกคลีกับวงการที่เอ่ยมาอาจจะไม่รู้จัก ว่าใครคือ บารมี ชัยรัตน์  ชายร่างท้วมมาดกวน อารมณ์ดี ซึ่งที่น่าสนใจคือ เขาคิดอะไรและคิดอย่างไรกับขบวนการเคลื่อนไหว กับชีวิตของคนทำงานเพื่อสังคม วันนี้ ทีมงานไทยเอ็นจีโอได้บุกประชิดตัว รัวคำถาม สดๆ แบบระยะเผาขนและตรงประเด็น

 

ไทยเอ็นจีโอ ถามจริงๆ เหอะ อะไรทำให้หันมาทำงานพัฒนา ทำแล้วมีทบทวน หรือไขว้เขวไหม เห็นโพสต์ เห็นพูดอะไรในเฟสแบบว่า เดี๋ยวหยิกเดี๋ยวหยอกเดี๋ยวย้อนแย้งเหน็บแนมทุกวัน กวน Teen นะเรา

บารมี ชัยรัตน์  :   เฮ้ย...!  ไอ้ห่า ผมไม่ได้ทำงานพัฒนา  ผมไม่อยากเรียกงานที่ทำว่าเป็นงานพัฒนา  ไม่อยากเป็นนักพัฒนา  ไม่ชอบคำว่าเอ็นจีโอ  ผมอยากเป็นนักกิจกรรม  ผมชอบคำนี้มากกว่า  มันดูเหมือนเป็นงานอาสาสมัคร  ไม่ใช่เป็นอาชีพ  คำว่าเอ็นจีโอมันเหมือนเป็นอาชีพ  ยิ่งภายหลังมีคำว่าเอ็นจีโอต้องเป็นมืออาชีพผมยิ่งไม่ชอบคำนี้  อยากจะเรียกตัวเองว่าเป็นนักเคลื่อนไหว  เป็นนักปฎิวัติ  แต่เราไปไม่ได้ถึงขนาดนั้น  ยังติดที่จะเสพสุขยังไม่สามารถทุ่มเทให้กับการปฎิวัติได้อย่างเต็มที่  เป็นแค่นักกิจกรรมก็พอแล้ว

แต่ตอนนี้ ผมไม่ต้องหันมาเป็นนักกิจกรรม  เพราะความเป็นนักกิจกรรมมันอยู่ในหัวใจอยู่แล้ว   ผมทนไม่ได้ที่จะเห็นความอยุติธรรม (จริงๆ ผมตอแหล  เพราะความอยุติธรรมมันก็มีมาให้เห็นตลอดแหละ  เพียงแต่จังหวะไหนที่มันจะสะเทือนใจเราเท่านั้นเอง  บางข่าวบางเรื่องนอกจากเราไม่สะเทือนใจแล้วบางทีเรายังสมน้ำหน้าอีกด้วย กลายเป็นไปซ้ำเติมเขาอีก)  ผมเข้ามาทำกิจกรรมในชมรมค่ายอาสาพัฒนาราม-อีสาน ม.รามคำแหง  เพราะข่าวเด็กกินดินมันสะเทือนใจ  นึกว่าเข้ามาแล้วเราจะทำอะไรได้  ที่ไหนได้เข้ามาแล้วยังฟังเขาพูดกันไม่รู้เรื่องเลย  ใช้เวลาเป็นปีกว่าจะฟังรู้เรื่อง พอทำกิจกรรมไปแล้วมันก็ติดลมอ่ะ  ไปลงพื้นที่  ไปออกค่าย  ร้องเพลง  ดูหนัง  อ่านหนังสือ  พูดคุยแลกเปลี่ยน   กิจกรรมต่างๆ นี้มันซึมลึกเข้าไปในระบบคิดของเราแบบว่า  กว่าจะรู้ตัวก็เปลี่ยนไม่ทันแล้ว   ดังนั้นเมื่อออกจากรามมาจึงไม่ต้องหันไปทางไหน   เพราะมันไปทางไหนไม่เป็นแล้ว  เป็นนักกิจกรรมนี่แหละ  มาถูกทางละ


ไทยเอ็นจีโอ ทำไมทำมา เหมือนๆ กับขบวนการงานเคลื่อนไหว หรือเอ็นจีโอ หรืออะไรก็แล้วแต่ เหมือนๆจะซบเซา ซาลง มันมีการทบทวน หรือเป็นเพราะไขว้เขว หรือเปล่า

บารมี ชัยรัตน์ 
มันต้องถามให้ชัดว่าทบทวนอะไร   ทบทวนความคิด  ทบทวนกิจกรรม  ทบทวนเป้าหมาย  หรือทบทวนอะไร  ทบทวนแล้วทิ้งทวน   พอทิ้งทวนแล้วก็เก็บทวนอีก   อะไรแบบนั้นหรือเปล่า  จริงๆ แล้วมันก็ทบทวนทุกเรื่องแหละ   ขอใช้คำเบาๆ หน่อยละกัน เดี๋ยวคนจะมันไส้   เช่น  ทบทวนว่ายังอยากจะทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมอยู่ไหม   ทบทวนว่างานที่ทำอยู่มันพอไปได้ไหม   ทบทวนว่าคำตอบอยู่ที่หมู่บ้านจริงไหม   เอาคำพูดคนอื่นมาทบทวนด้วยก็มีเช่น  ทำเรื่องพื้นที่มานานแล้วไม่ประสบความสำเร็จมาผลักเรื่องนโยบายดีกว่า  หรือทำเรื่องนโยบายมานานแล้วไม่ประสบความสำเร็จลงไปทำงานพื้นที่ดีกว่า    บางคนก็ว่าม๊อบแล้วก็ไม่ได้อะไรขึ้นมาสู้ไปสร้างความร่วมมือกับรัฐดีกว่า  บางคนก็ว่าสร้างความร่วมมือกับรัฐมาตลอดไม่ได้อะไรเลยคงต้องออกมาประท้วงบ้าง     บางคนก็ว่าควรจะต้องมีพรรคของประชาชนได้แล้วบางคนก็ว่าอย่าไปยุ่งกับการเมือง   บางคนว่าสิทธิชุมชนคือคำตอบบางคนว่าไม่ใช่   บางทีทบทวนไปแล้วได้หน้าลืมหลังก็มีครับ  แต่ถ้าถามว่าทบทวนแล้วอยากเลิกทำงานแบบนี้ไหม  ตอบได้เลยว่าไม่ครับ   มันเสพติดแล้วเลิกไม่ได้แล้วครับถ้าจะเลิกก็ต้องเพราะสาเหตุอื่นเช่น  ถ้าไม่เลิกเมียจะเลิกแบบนั้นคงต้องเลิก  คือไม่ไขว้เขวไปทางอื่นแล้ว   แต่ถ้าถามว่าแล้วความคิดเปลี่ยนไปบ้างไหม   ตอบได้เลยว่าเปลี่ยน   แต่ก่อนอาจจะคิดว่าคำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน  มองอะไรแบบโรแมนติค  สวยงามอยู่ตลอดเวลา  เป็นพวกโลกสวย   ตอนนี้เปลี่ยนแล้วโลกไม่สวยแล้ว   จริงนะ  แค่คิดว่าเพื่อนคนนึงกลับมาอยู่บ้านทำไร่ทำสวนก็อยู่ได้สบายๆ แล้ว  แต่พอเห็นของจริงแม่งเหนื่อย  ลำบาก  โดนขโมยของ   เจอไฟป่า   จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ตัวเองขึ้นมาขายทำไวน์ ทำแยม  มันก็หาที่ขายไม่ได้ง่ายๆ ต้นทุนก็สูง  ภาษีก็สูง  กำไรก็น้อย   ผัวอยู่ทางเมียอยู่ทางแล้วมันจะโรแมนติคได้ไง   โลกทุนนิยมมันโหดร้ายกว่าที่คิด   ขนาดเพื่อนที่ชอบอยู่อย่างสันโดษ  ยังต้องโดดออกมาจัดอบรมหาเงินเลย  ใครอยากโรแมนติค  ใครอยากสันโดษ  เอาเงินมาจ่าย  ฮ่าๆๆๆ

ไทยเอ็นจีโอ  ได้แนวคิดอะไร หรือของใคร มาเป็นแรงบันดาลใจ หรือมาปรับใช้บ้าง  และ ระหว่างการดำเนินชีวิต กับการทำงานพัฒนา ต่อสู้เคียงข้างพี่น้องชาวบ้าน มีบทเรียนอะไร ที่น่าสนใจ ต่อสังคม ต่อตัวเองบ้าง ไหม

บารมี ชัยรัตน์ :  ได้สิ แนวคิดเยอะแยะมากมาย  ยูโทเปีย พระศรีอารย์  นี่เป็นแรงบันดาลใจเลย   พระโพธิสัตว์ก็เป็นแรงบันดาลใจนะ  อย่าว่าแต่มาร์กซ์  เหมา  ลุงโฮ  หรือคนอื่นๆ ผมมีครูบาอาจารย์มากมาย  แต่ผมมันศิษย์นอกครูๆเลยไม่ค่อยรัก  บทเรียนที่สำคัญมีมากมาย   มีตลอดเวลาแหละขึ้นอยู่กับว่าเราจะให้ความสำคัญกับมันขนาดไหน  

บทเรียนที่ผมนำมาใช้ตลอดคือ   

๑. เราต้องไม่ใช้กฎหมายเป็นตัวตั้งในการแก้ไขปัญหา   เพราะถ้าใช้กฎหมายเป็นตัวตั้งในการแก้ไขปัญหาแล้วมันจะไม่จบ  หรือถ้าเป็นการเขียนกฎหมายใหม่ขึ้นมามันอาจจะจบที่ปัญหาของเราแต่กลายเป็นทำให้คนอื่นเดือดร้อน  เราต้องสร้างแนวทาง  วิธีการในการแก้ไขปัญหาขึ้นมาใหม่ให้สอดคล้องกับสิ่งที่เรามีและเข้าถึงได้   เช่น   เราไม่เอาวิธีการแก้ไขปัญหาแบบการอ่านภาพถ่ายทางอากาศ   เราไม่สนใจเรื่องการพิสูจน์สิทธิ  เราก็ต้องหาทางออกจากวังวนนั้น  

๒.ในการเรียกร้องไม่ว่าเรื่องใดก็ตามต้องมีเหตุผล  ได้ประโยชน์  และรู้ประมาณ  จะไปนั่งมโนเอาส่งเดชไม่ได้  แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นวิชาการจ๋าถึงขนาดต้องทำวิจัยเพื่อสร้างข้อเสนออะไรขนาดนั้น  ข้อเสนอที่มีเหตุผลไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นข้อเสนอที่ชอบด้วยกฎหมาย  แต่อาจจะเป็นข้อเสนอที่สอดคล้องกับความเป็นจริงสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน   ข้อเสนอนั้นเราต้องได้ประโยชน์   ไม่ใช่เสนอไปแล้วเราต้องเสียผลประโยชน์  เช่น  ก่อนยื่นข้อเสนอเรายังทำกินได้  แต่พอยื่นข้อเสนอไปแล้ว  กลายเป็นว่าถ้าเราจะเข้าไปทำกินจะต้องขออนุญาต  แบบนี้ไม่ได้ประโยชน์แล้ว    ข้อเสนอก็ต้องรู้ประมาณด้วย ไม่เรียกร้องอะไรที่มันเกินเลยไป  เช่น ได้ใช้บัตรทองแล้วยังเรียกร้องจะนอนห้องพิเศษ  กินอาหารพิเศษ  แบบนี้ก็เรียกว่าไม่รู้ประมาณ   

๓.เราต้องเชื่อมั่นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเป็นปัญหาทางชนชั้น  มันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม   ไม่ใช่เกิดจากบุญทำกรรมแต่ง   ไม่ได้เกิดจากเราไม่รู้จักพอเพียง   แต่เราเป็นผู้ถูกกระทำ  เมื่อเราเป็นผู้ถูกกระทำเราต้องลุกขึ้นมาต่อสู้  ไม่มีทางที่เรามาแบมือร้องขอแล้วเราจะได้อะไรเต็มเม็ดเต็มหน่วยหรอก  

๔.เราต้องเชื่อมั่นว่าปัญหานั้นต้องแก้ได้ด้วยการลุกขึ้นมาต่อสู้   ลุกขึ้นมาเดินขบวน  ลุกขึ้นมายึดที่ดิน  ลุกขึ้นมายึดเขื่อน  มันอยู่ที่พละกำลัง  ความเข้มแข็ง  ความเป็นเอกภาพของเราต่างหากที่เราจะยันอีกฝ่ายหนึ่งไว้ได้   อย่าลืมว่าเราอยู่ฝ่ายตั้งรับไม่ใช่ฝ่ายรุก   งานข้อมูล  งานวิจัย  งานสื่อ  หรืออื่นๆ เป็นเครื่องมือในการสนับสนุน  อย่าคิดว่าเราชนะเพราะข้อมูล  เพราะสื่อ ถ้าชนะเพราะข้อมูล  เพราะสื่อ  เขายกเลิกเขื่อนแก่งเสือเต้นไปนานแล้ว   เขาทุบเขื่อนปากมูลทิ้งไปนานแล้ว

3.ปัญหา ชาวบ้าน ปัญหาสังคม ที่เราทำๆ เราต่อสู้มานานหลายปี  ได้เปลี่ยนแปลง แก้ไข ไปอย่างไรบ้าง ประสบการณ์นี้ สร้างบทเรียนอะไรให้สังคมไทยได้บ้าง

                สิ่งสำคัญที่เราได้คือเราได้ยกระดับการต่อสู้ขึ้นมาเป็นการต่อสู้ที่ชาวบ้านมีที่อยู่ที่ยืนที่เสมอหน้ากับทางราชการได้   ความเห็นของเราได้รับการรับฟังและมีการยอมรับในสังคมมากขึ้น  เราสามารถผลักดันข้อเสนอของเราให้บรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๔๐ ได้   แต่ที่พูดมาทั้งหมดนั้นมันเป็นเรื่องในอดีต   มันถูกทำลายโดย คสช.และสมุนบริวารหมดแล้ว 
                การต่อสู้ของสมัชชาคนจนในตั้งแต่ปี ๒๕๓๘ เป็นต้นมาเป็นการเปิดพื้นที่ทางสังคมของชนชั้นล่างทำให้เรามีสิทธิมีเสียงมากขึ้น  แต่การมีสิทธิมีเสียงของเรานั้นกลายเป็นการไปแย่งพื้นที่ของชนชั้นกลาง   ไปขัดขวางอภิสิทธิ์ของชนชั้นกลาง  เช่น  เราคัดค้านการสร้างเขื่อนมันทำให้ชนชั้นกลางไม่พอใจ  เพราะเขาต้องการใช้ไฟฟ้า  เขาต้องการใช้น้ำประปา   แต่เรากลับบอกว่ามันเป็นการแย่งชิงทรัพยากรของเรา  เราเรียกร้องให้รัฐจัดสวัสดิการ เพราะมันเป็นการทำให้เราเข้าถึงสิ่งที่ควรจะเป็นสวัสดิการของรัฐได้มากขึ้น  เช่น เรื่องการศึกษา  การสาธารณสุข   แต่มันก็ไปแย่งงบประมาณที่จะไปอุดหนุนชนชั้นกลาง   ไปแย่งที่เรียน  ไปแย่งโรงพยาบาล   ซึ่งเป็นเรื่องที่ชนชั้นกลางรับไม่ได้   และออกมาเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลที่สนับสนุนชนชั้นล่าง    เรียกร้องหาเผด็จการเพื่อให้เข้ามาผลักดันให้ชนชั้นล่างกลับไปอยู่ในพื้นที่เดิม   กลับไปอยู่ในสถานะเดิม  บัตรคนจนคือรูปธรรมคือให้เฉพาะบางคน  ซื้อได้เฉพาะบางจุด  บัตรคนจนไปรูดให้ห้างสรรพสินค้าใจกลางกรุงไม่ได้ครับ  ใช้ได้แค่จุดที่เขากำหนดให้เท่านั้น       ซึ่งหมายความว่าตอนนี้ชนชั้นกลางก็ได้รับชัยชนะแล้ว   ถึงเริ่มมีเสียงเรียกร้องให้เลือกตั้ง  ตอนนี้เราต้องถอยออกมาเพื่อที่จะตั้งหลักใหม่   ว่าเราจะเดินหน้าต่อไปได้อย่างไร  นี่คือบทเรียนที่สำคัญของเรา  

 

ไทยเอ็นจีโอ  สู้ยังไงก็ไม่ชนะ ถามจริงๆ อยากหยุดพักบ้างไหม ทำไม      และ  ถ้าอยากหยุด  จะไปทำอะไรต่อ ?

บารมี  ชัยรัตน์  ภารกิจของนักปฎิวัติไม่มีทางหมดสิ้นหรอกครับ (ขอพูดเอาหล่อซะหน่อย)  ผมถือว่าทำงานไปพักไปนะ  ผมชอบการเดินทาง  ผมชอบที่จะคลุกคลีอยู่กับพี่น้องสมัชชาคนจนมากกว่า   ถ้าหยุดคงเหงา   อาจจะยังไม่ถึงเวลาหยุดก็ได้   คิดว่าเมื่อถึงเวลาคงหยุดเอง   หยุดแล้วจะไปทำอะไรต่อเหรอ  ผมอยากเป็นทนายเผื่อช่วยเหลืออะไรชาวบ้านได้มั่ง  ผมอยากเขียนหนังสือ  เขียนนิยาย  เล่าเรื่องราวที่เจอะเจอมา   ผมอยากขายกัญชาในสวนที่ผมปลูกเองเพราะกัญชาเป็นยาวิเศษ  ผมอยากหมักสาโทกินเอง  ทำไวน์  ต้มเหล้ากินเอง   เพราะไม่อยากสนับสนุน สสส

 

ไทยเอ็นจีโอ  ทิศทางงานเคลื่อนไหว มองทุกกลุ่มเลย ในสังคมไทยมันจะเดินไปยังในอนาคต  สภาพตอนนี้ ทั้งแตกแยก ขัดแย้ง ย้อนแย้ง เต็มไปหมด

บารมี ชัยรัตน์  ก็ในเมื่อมันมีความขัดแย้งมันต้องนำไปสู่คุณภาพใหม่ครับ   ในอดีตเราให้ความสำคัญกับเรื่องความจริง ความดี  ความงาม  ระบอบการปกครองแบบธรรมาธิปไตย มีกษัตริย์ที่ทรงทศพิศราชธรรม  มีผู้นำที่เป็นอัศวินม้าขาว    แต่คนรุ่นใหม่เขาให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน  ประชาธิปไตย   ความเป็นคนที่เท่าเทียมกัน   การนำรวมหมู่ซึ่งมากกว่าการขอเข้าไปมีส่วนร่วม  การนำรวมหมู่คือการนำแบบเสมอหน้ากัน  ช่วยกันคิด  ช่วยกันทำ  ช่วยกันรับผล    ในอดีตศาสนามีผลต่อการใช้ชีวิต  แต่คนรุ่นใหม่ไม่ได้สนใจที่จะไปนิพพาน ไปสู่ปรมาตมันหรือไปรอวันพิพากษา  ซึ่งผมเชื่อว่าความคิดของคนรุ่นใหม่มันสอดคล้องกับความเป็นจริงในสังคมที่มันเป็นปัจเจกชน  แก่งแย่งแข่งขันกัน ใช้อำนาจที่เหนือกว่าหรือสร้างองค์อำนาจที่เหนือกว่าขึ้นมาเพื่อกดขี่ ขูดรีด  ผูกขาด ตัดตอนเพื่อแสวงหากำไรสูงสุดตามแนวทางของเสรีนิยมใหม่  ความโชคดีของคนรุ่นใหม่มีอีกอย่างคือ  คนรุ่นเก่าได้หันไปสมาทานอำนาจนิยมเผด็จการ  แทนประชาธิปไตย  ซึ่งทำให้คนรุ่นใหม่มีโอกาสได้รู้ว่าการปกครองแบบเผด็จการมันชั่วร้ายเลวทรามขนาดไหน   ความจริง ความดี ความงามนี่ใช้กับคนแบบวิษณุ มีชัยไม่ได้หรอก 

                 ผมเชื่อว่าถึงที่สุดแล้วคนรุ่นใหม่จะมองออกว่ามันเป็นความขัดแย้งทางชนชั้น  ที่จะสู้แบบปัจเจกชนไม่ได้  ผมเชื่อว่าเขาจะแยกมิตรแยกศัตรูออก   และผนึกกำลังของชนชั้นผู้ถูกกดขี่ลุกขึ้นมาต่อสู้   นี่เป็นทิศทางงานเคลื่อนไหวในอนาคต  อาจจะอีก 20-30 ปี ข้างหน้า  แต่ถ้ามองในระยะ 5-10 ปี  ผมว่าทำอะไรไม่ได้มากหรอก  ต้องรอพวกอัศวินม้าขาว  เสาหลักประชาธิปไตย  ตายหรือหมดสภาพไปเสียก่อน  พูดเล่นครับ 
                จริงๆ คือผมคิดว่าภายใน
5-10 ปีนี้ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นกลางกับชนชั้นล่างจะปะทุขึ้นอีกครั้ง  และคงจะหนักหนาสาหัสพอที่จะให้ชนชั้นล่างตระหนักในศักยภาพของตัวเอง  ในขณะที่ชนชั้นกลางก็จะได้ตระหนักในความจริงว่าตนเองก็เป็นแค่ชนชั้นกรรมาชีพเท่านั้นแทบจะไม่มีทางที่จะยกตัวเองขึ้นไปเป็นชนชั้นนายทุนได้หรอก  แล้วชนชั้นกลางจะหันมาเป็นมิตรกับชนชั้นล่าง   จับมือกับชนชั้นล่างเพื่อสู้กับชนชั้นปกครอง ชนชั้นนายทุนต่อไป   พูดกว้างๆแบบนี้แหละ  ลงรายละเอียดมากไม่ดี ไม่อยากพูดมาก  มันเจ็บคอ

                ดังนั้นทิศทางการเคลื่อนไหวแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้นคือการกลับมารวมตัวกันต่อสู้ที่เป็นการต่อสู้ทางชนชั้น  มีการนำแบบรวมหมู่  โดยคนรุ่นใหม่...

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม