3 พฤษภาคมวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก...เสรีภาพในการแสดงของประชาชน

1269 05 May 2018

3 พฤษภาคมของทุกปีถูกกำหนดให้เป็น "วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก" (World Press Freedom Day) มีขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้คนทั่วโลกเฉลิมฉลองสิทธิขั้นพื้นฐาน นั่นคือเสรีภาพในการแสดงออก (freedom of expression) วันที่ 3 พฤษภาคม ของทุกปีถูกกำหนดให้เป็น วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (World Press Freedom Day) เพื่อระลึกถึงข้อปฏิบัติว่าด้วยเสรีภาพสื่อ และเพื่อเป็นการปกป้องนักข่าวที่ถูกโจมตีเพียงเพราะพวกเขาทำหน้าที่ของตัวเองเท่านั้น การปกป้องสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกนั้นถือเป็นงานที่หนักพอสมควร โดยองค์กร Reporters Without Borders ได้รายงานว่า “การเคารพเสรีภาพสื่อนั้นลดลงจนน่ากลัว” ทั้งในระดับโลกและในระดับภูมิภาค

ในขณะที่หน่วยงาน Committee to Protect Journalists รายงานว่าในปี 2560 มีนักข่าว 46 คน ถูกฆ่าขณะปฏิบัติหน้าที่ และ หน่วยงาน The International News Safety Institute ได้รายงานว่าในปี 2561 นี้มีนักข่าวถูกฆ่าในขณะปฏิบัติหน้าที่จำนวน 33 คน แบ่งออกเป็นทวีปอเมริกา 10 คน เอเชีย 22 คน และ ยุโรป 1 คน นักข่าวบางรายเสียชีวิตเพราะต้องเข้าไปทำข่าวในพื้นที่อันตราย เช่น พื้นที่ที่มีการสู้รบ หรือพื้นที่ที่ถูกควบคุมโดยผู้ค้ายาเสพติด หรือองค์กรอาชญากรรม ในขณะที่นักข่าวบางรายเสียชีวิตเพราะถูกกลุ่มผู้มีอิธิพลทางการเมือง หรือศาสนาฆ่าปิดปากเนื่องจากเกรงว่าจะเป็นภัยต่อตัวเอง ทั้งนี้ ข้อมูลของหน่วยงาน The International News Safety Institute ยังระบุอีกว่า ในปี 2561 นี้มีประเทศที่มีนักข่าวเสียชีวิตมากที่สุด 5 ประเทศ คือ อัฟกานิสถาน ซีเรีย เอกวาดอร์ อินเดีย และเม็กซิโก

ทุกๆ วันนักข่าวทั่วโลกต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากการข่มขู่ การเซ็นเซอร์ การกักขัง และการใช้ความรุนแรงซึ่งรวมถึงการถูกทรมาน เพียงเพราะพยายามที่จะรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนให้สังคมได้รับรู้ ทั้งนี้ในปี 2556 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เคยรวบรวม 10 วิธีการที่ทั่วโลกใช้ปราบปรามผู้สื่อข่าว เพื่อไม่ให้ผู้สื่อข่าวรายงานข่าวอย่างเสรีและเป็นธรรม ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ทั่วโลกพยายามพัฒนาเทคนิคเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้สื่อข่าวเปิดโปงการคอรัปชั่นและการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากขึ้น ทั้งการฟ้องเพื่อปิดปาก การตั้งข้อหาเท็จ การเพิกถอนใบอนุญาตนักข่าว ไปจนถึงการสังหาร รวมทั้งวิธีการอื่นๆ อีกมากมายที่ยังใช้กันอย่างแพร่หลายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ต้นกำเนิดวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 องค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้เสนอให้สมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ (UN) ประกาศให้วันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปีเป็น "วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก" (World Press Freedom Day) เพื่อย้ำเจตนารมณ์และหลักการที่เป็นพื้นฐานของเสรีภาพสื่อมวลชนทั่วโลก คือเสรีภาพในการคิดและการแสดงออก เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้เสนอข้อเท็จจริงโดยเสรี และปลอดภัย เพราะในระยะหลังๆ มีนักข่าวที่ลงพื้นที่ภาคสนามเสียชีวิต ถูกจับเป็นตัวประกัน และถูกจับกุมเพิ่มจำนวนมากขึ้น

ถึงแม้การเฉลิมฉลองวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกเพิ่งเริ่มต้นเมื่อปี 2534 แต่เสรีภาพในการแสดงออกถูกพูดถึงเมื่อเกือบ 70 ปีมาแล้ว โดยสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติมีมติรับรอง “ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน” (The Universal Declaration of Human Rights) เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2491 โดยมีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพของสื่อมวลชนไว้ในข้อที่ 19 ว่า “ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพในการที่จะถือเอาความเห็นโดยปราศจากการแทรกสอด และที่จะแสวงหา รับ และแจกจ่ายข่าวสาร และความคิดเห็นไม่ว่าโดยวิธีใดๆ และโดยไม่คำนึงถึงเขตแดน” นักข่าวคือนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักข่าวหรือสื่อมวลชนถือเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนคนหนึ่ง เพราะพวกเขาคือคนที่ลงมือทำเพื่อปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนโดยไม่ใช้ความเกลียดชัง การเลือกปฏิบัติ หรือความรุนแรง พวกเขาคือ “ผู้กล้า” ที่กล้าออกมาทำเพื่อส่วนรวม กล้าที่จะออกมายืนหยัดเพื่อสิทธิของเราทุกคน โดยเฉพาะการนำเสนอข่าวหรือตีแผ่ความไม่เป็นธรรมในสังคม ภายใต้หลักการที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกคือ “เสรีภาพในการแสดงออก” ในวันที่พวกเขาถูกคุกคามจึงถึงเวลาแล้วที่พวกเราต้องแสดงพลังสนับสนุนการทำงานอันกล้าหาญของพวกเขา เพื่อให้พวกเขาทำงานได้อย่างปลอดภัยและเพื่อสังคมที่ดีขึ้น

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเชื่อมั่นว่า “การนำเสนอข่าวไม่ใช่อาชญากรรม” ดังนั้นเมื่อนักข่าวในประเทศต่างๆ ถูกจับกุม คุมขังหรือถูกตั้งข้อหาเพียงเพราะการทำหน้าที่ในการรายงานข่าวหรือข้อเท็จให้สังคมได้รับทราบ แอมเนสตี้จะเรียกร้องให้ยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมดและปล่อยตัวพวกเขาโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข ทั้งนี้เพราะเสรีภาพของสื่อมวลชนถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ทุกประเทศต้องให้การเคารพและยอมรับตามที่กล่าวไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ภาพประกอบ ประชาไท (10 วิธีปราบปรามสื่อมวลชนทั่วโลก)

**********

เนาวรัตน์ เสือสอาด ผู้ประสานงานฝ่ายสื่อสารองค์กร Naowarat Suesa-ard Media and Communication Coordinator

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม