ทบทวนสาระสำคัญ กฎหมายเลือกตั้งยุค คสช. ว่าดับฝันกันอย่างไร ?

1469 28 Mar 2018

( ขอบคุณภาพจาก https://www.posttoday.com/columnist/389689 )

ก่อนจะเข้าสู่บรรยกาศการเลือกตั้ง การลงสนามสมัครหรือเชียร์ใคร ประชาชนคนไทยต้องมาดูมาทบทวนตัวบทกฎหมายก่อน ว่า สามาถทำอะไรได้บ้าง หรือกฎหมายนี้ วางหลุมพรางกับดักอะไร ไว้อย่างไร

ประการแรก คือ กติกาตามกฎหมายที่กำหนดไว้นั้น จะทำให้พรรคการเมืองใหม่ที่เป็นพรรคเล็กเกิดยาก เพราะตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 กำหนดเงื่อนไขไว้เป็นกับดักมากมาย อาทิ
– ต้องมีสมาชิกก่อตั้ง 500 คน และภายใน 1 ปี ต้องมีสมาชิกเป็น 5,000 คน และภายใน 4 ปี ต้องมี 10,000 คน
– ต้องมีทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท
– ภายใน 1 ปี ต้องมีสาขาพรรคทุกภาคและมีสมาชิกสาขาละ 500 คน โดยสมาชิกทุกคนมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินบำรุงพรรคปีละ 100 บาท หรือจ่ายแบบตลอดชีพไม่น้อยกว่า 2,000 บาท เป็นต้น ( ตรวจสอบ ข้อกฎหมายได้ที่  https://ilaw.or.th/node/4654 )

ประการที่สอง จอดสนิทอยู่ที่คำสั่ง คสช.  เพราะเพรรคการเมืองใหม่นี้ จะทำอะไรต้องขออนุญาต คสช. ก่อนทุกครั้ง เนื่องจากทุกพรรคการเมืองยังถูกประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 สั่งห้ามประชุมและดำเนินกิจกรรมทางการเมืองโดยเด็ดขาด แต่ก็มีการผ่อนผันบ้างเล็กน้อยตาม คำสั่งหัวหน้า คสช. 53/2560 ที่กำหนดให้ผู้ที่จะจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่สามารถจัดประชุมเพื่อก่อตั้งพรรค เลือกหัวหน้าพรรค กรรมการพรรค และจัดเตรียมเอกสารต่างๆ ได้ แต่การประชุมเพื่อยื่นคําขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองต้องได้รับอนุญาตจาก คสช. และให้ดําเนินกิจกรรมได้ตามเงื่อนไขที่ คสช. กําหนด (   http://library2.parliament.go.th/…/…/ncpo-annouce57-2557.pdfhttp://library2.parliament.go.th/…/ncpo-head-order53-2560.p…https://ilaw.or.th/node/4709 )
ประการที่สาม เงื่อนปม อายุ ดับความฝันประชาชนที่อยากได้ผู้บริหารประเทศคนรุ่นใหม่ไฟแรงหนุ่มแน่น ฝันสลายได้เลย งานนี้ เพราะ
-ผู้สมัครต้องอายุ 25 ปี ถึงสมัครรับเลือกตั้งได้
-ผู้จัดตั้งพรรคการเมืองต้องอายุไม่น้อยกว่า 20 ปี
-ส่วนผู้ที่จะเป็นรัฐมนตรีได้ต้องอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี และ  ต้องไม่ติดยาเสพติด ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย ไม่ถือหุ้นในสื่อมวลชน ไม่เป็นนักบวชในศาสนา ไม่เคยได้รับโทษจำคุก หรือพ้นโทษมาต้องเกินสิบปี ไม่เคยถูกตัดสินในคดีทุจริต หรือถูกไล่ออกจากราชการเพราะทุจริต

ประการที่สี่ ระบบการเลือกตั้งใช้บัตรใบเดียว ทำให้ต้องส่งผู้สมัครทุกเขตทำให้การเลือกคนที่รัก พรรคที่ชอบ ทำไม่ได้แล้ว ระบบใหม่นี้ ทุกคนจะกากบาทในบัตรใบเดียว ซึ่งหมายความประชาชนจะต้องเลือกทั้งผู้สมัครแบบแบ่งเขตและผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อไปด้วยพร้อมกัน คือต้องตัดสินใจยากขึ้น หลายรักหลายชอบไม่ได้ ส่วนพรรคเองก็ต้องทำการบ้านหนัก กว่าเดิมมาก นโยบายต้องดี การหาเสียงสื่อสารกับประชาชนต้องถึง ที่สำคัญการส่งผู้สมัครแต่ละเขต ต้องไม่ขี้เหร่ ซึ่งพรรคเล็ก จะมีโอกาสทำได้ยากมาก ยิ่งทุนน้อยยิ่งสู้ศึกนี้ลำบาก ( https://www.ilaw.or.th/node/4079 )

ประการที่ห้า ผู้สมัครแต่ละเขตของพรรคเดียวกันจะได้เบอร์ไม่ซ้ำกัน ตาม ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มาตรา 48 กำหนดไว้ว่า หมายเลขผู้สมัครรับเลือกตั้งในแต่ละเขตให้เรียงตามลำดับการยื่นใบสมัคร หากมีผู้สมัครมาพร้อมกันหลายคน ให้ใช้วิธีการจับสลาก ซึ่งส่งผลให้ผู้สมัครจากพรรคเดียวกัน ที่ลงสมัครในเขตต่างกัน มีโอกาสมากที่จะได้หมายเลขแตกต่างกัน และอาจจะสร้างความสับสนให้กับประชาชนผู้ไปใช้สิทธิ ที่จะจำหมายเลขผู้ที่อยากเลือกไม่ได้ และพรรคการเมืองขนาดเล็กไม่สามารถช่วยหาเสียงให้ผู้สมัครจากส่วนกลาง โดยใช้หมายเลขของพรรคหมายเลขเดียวได้ง่ายๆ แต่ต้องให้ผู้สมัครทุกเขตต่างคนต่างประชาสัมพันธ์หมายเลขของตัวเอง ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ( https://ilaw.or.th/node/4752 )

ประการที่หก วิธีนับที่นั่งปาร์ตี้ลิสต์แบบใหม่ อาจจะทำให้เกิดพรรคการเมืองจำนวนมาก ระบบเลือกตั้งใหม่ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เรียกว่า “ระบบจัดสรรปันส่วนผสม” มีวิธีการจัดสรรที่นั่ง ส.ส. โดยนำคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับจากทั้งประเทศคำนวณเพื่อให้ได้จำนวน ส.ส.ที่พรรคนั้นควรจะมี และเมื่อได้จำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคควรจะได้แล้ว ให้นำมาหักลบกับจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขต ก็จะทำให้ได้จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค วิธีการนี้จะทำให้พรรคขนาดใหญ่มีโอกาสได้ที่นั่ง ส.ส. น้อยลง เพราะหากได้ ส.ส.แบบแบ่งเขตจำนวนมาก ก็จะทำให้ได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อลดลง พรรคขนาดกลางมีโอกาสได้ที่นั่งมากขึ้น แม้แพ้เลือกตั้งในแบบแบ่งเขต แต่คะแนนที่ได้จากทุกๆ เขตประกอบกันก็อาจจะทำให้ได้จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเป็นกอบเป็นกำ ส่วนชะตากรรมของพรรคขนาดเล็กอาจจะหวังยากที่จะได้ ส.ส.แบบแบ่งเขต แต่ถ้าหวังจะได้ที่นั่งจากระบบบัญชีรายชื่อบ้าง ก็ต้องใช้ทุนและคนจำนวนมากเพื่อนำคะแนนในแต่ละเขตมาเก็บเล็กผสมน้อยเพื่อให้ได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อสักหนึ่งคน ด้วยเหตุนี้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจำนวน 150 คน อาจถูกแบ่งปันไปให้กับพรรคการเมืองจำนวนมาก ซึ่งพรรคทหารโดยการสนับสนุนของ คสช.ก็คือหนึ่งในคู่แข่งนั้น  (

https://www.ilaw.or.th/node/4079 )

ประการที่เจ็ด ไม่ว่าพรรคใหญ่เล็กแค่ไหน ก็ต้องทำ Primary Vote  หมายถึงระบบที่ให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการคัดเลือกผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรค ระบบนี้มีขึ้นเพื่อไม่ให้พรรคการเมืองถูกผูกขาดโดนนายทุนคนใดคนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งการทำ Primary Vote กำหนดไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญ และกำหนดรายละเอียดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 47-51 กำหนดให้ แต่ละพรรคการเมืองต้องมี “คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง” ขึ้นมาดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติและส่งรายชื่อผู้สมัครให้ “สาขาพรรค” หรือ “ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด” จัดประชุมสมาชิกเพื่อลงคะแนนเลือกผู้สมัครในนามพรรค โดยต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่า 100 คน ซึ่งการบังคับให้ต้องทำตามขั้นตอนเหล่านี้สำหรับพรรคการเมืองขนาดเล็กที่มีงบประมาณในการจัดการทางธุรการน้อย และมีจำนวนสมาชิกน้อย จะต้องพบความยากลำบากอย่างมาก ( https://ilaw.or.th/node/4655 )

ประการที่แปด หลุมดำจากมาตรฐานทางจริยธรรม กับถ้อยคำกว้างขวาง คำว่า “มาตรฐานทางจริยธรรม”  เป็นกลไกใหม่ที่รัฐธรรมนูญมาตรา 219 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันร่างขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อจัดทำเสร็จแล้วจะใช้บังคับกับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งด้วย จากร่างมาตรฐานทางจริยธรรมฉบับที่เผยแพร่แล้ว พอจะเห็นแนวคิดของร่างนี้ คือ การกำหนดกรอบการทำหน้าที่ และการวางตัวของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ให้ทำตัวเป็น “คนดี” โดยใช้คำกว้างๆ ที่มีความหมายครอบคลุมได้หลากหลาย เช่น ต้องถือผลประโยขน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน, ประพฤติตนอยู่ในกรอบศีลธรรมอันดีของประชาชน, อุทิศเวลาแก่ทางราชการ ฯลฯ การฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม จะถูกดำเนินคดี โดย ป.ป.ช. และส่งเรื่องให้ ศาลฎีกานักการเมืองฯ วินิจฉัย หากเห็นว่า ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม “อย่างร้ายแรง” ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่ง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปี  ( https://www.ilaw.or.th/node/4204 และ

https://ilaw.or.th/node/4642 )

ประการที่เก้า ข้อนี้ ประหลาดที่สุด คือ การเสนอนโยบายใหม่ต้องแจงวงเงินให้ กกต. ทราบ  ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 57 กำหนดว่า การโฆษณานโยบายของพรรคการเมืองที่ต้องใช้จ่ายเงิน ต้องแสดงวงเงินที่ต้องใช้ และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ ความคุ้มค่า ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย หากพรรคการเมืองโฆษณานโยบายโดยไม่อาจชี้แจงรายละเอียดเหล่านี้ ให้ กกต. สั่งให้ดำเนินการให้ถูกต้อง หากยังไม่ดำเนินการอาจถูกปรับไม่เกิน 500,000 บาท และปรับอีกวันละ 10,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง เท่ากับว่า พรรคการเมืองที่มาพร้อมกับแนวคิดใหม่ๆ จะเสนอเพียงไอเดียที่อยากเห็นเป็นภาพฝันอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้อง “ทำการบ้าน” อย่างหนักเพื่อตอบคำถามในทางปฏิบัติให้ได้ด้วย มิเช่นนั้นอาจะถูกปรับเป็นเงินจำนวนมากซึ่งพรรคขนาดเล็กอาจไม่มีกำลังจ่ายไหว ดับฝันพรรคจนๆ ที่มีแค่ความคิดใหม่ๆ กับแนวทางกันไปเลย  ( https://ilaw.or.th/node/4654 )

ประการสุดท้าย ประการที่สิบ  แม้จะได้รับเลือกตั้งแล้ว จะดำเนินนโยบายอะไรยังต้องอยู่ภายใต้ #ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพราะ รัฐธรรมนูญ มาตรา 142 กำหนดให้ การเสนอร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และมาตรา 162 กำหนดให้ รัฐบาลต้องแถลงนโยบายที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ดังนั้น ไม่ว่าพรรคการเมืองที่ลงสนามเลือกตั้งจะเสนอนโยบายแข่งขันกันอย่างไร สุดท้ายเมื่อจะทำจริงก็ยังต้องอยู่ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติที่ร่างขึ้นโดยคนของ คสช. โดยมี ส.ว. ชุดแรก 250 คน ที่มาจากการคัดเลือกของ คสช. ทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติอีกชั้นหนึ่งด้วย  ดับฝันสำหรับพวกคนหนุ่มสาวที่พยายามหาเสียงว่า คิดใหม่ทำใหม่ไปเลย ครับ ( https://ilaw.or.th/node/4570 )

 

Contact Information

  • : มูลนิธิกองทุนไทย Thai Fund Foundation 2044/23 ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ บางกะปิ ห้วยขวาง กรุงเทพ 10310
  • : webmaster@thaingo.org
  • : 082 178 3849
  • : www.thaingo.in.th

Thai NGO

ข่าวสารสังคมนอกสื่อกระแสหลัก ข่าวสารความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับเอ็นจีโอ ข่าวกิจกรรมเพื่อสังคม งานสัมนา สมัครงานเอ็นจีโอ ร้องเรียน แจ้งข่าว…ประนามประจาน !! ที่ได้รับความทุกข์ร้อนไม่เป็นธรรม